บริษัทเอกชนฟ้องกราวรูด ยื่น ป.ป.ช.เอาผิดมาตรา 157 กับผู้บริหาร สพฉ.ทั้งคนเก่าและใหม่ อนุกรรมการ อศป. ไปจนถึงคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินฐานละเว้นและทุจริตต่อหน้าที่ ไม่รับรองผู้ฟ้องเป็นองค์กรฝึกอบรมแต่ดันรับรองโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังให้เป็นได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 6 พ.ย.2560 ที่ผ่านมา นายต่อพงษ์ ส่งศรีโรจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อีเมอเจนซี เมดิคอล เซอร์วิส เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด ได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) หลายราย ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการละเว้นและทุจริตต่อหน้าที่ทำให้ผู้ฟ้องได้รับความเสียหาย
สำหรับรายชื่อผู้ถูกฟ้องประกอบด้วย 1.นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร อดีตเลขาธิการ สพฉ. 2.เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ.คนปัจจุบัน 3.นางวิภาดา วิจักขณาลัญฉ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 4.น.ส.เพ็ญรุ่ง บุญรักษ์ หัวหน้าฝ่ายกำลังคน 5.คณะอนุกรรมการรับรององค์กรและหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรมผู้ปฏิบัติการ และการให้ประกาศนียบัตรหรือเครื่องหมายวิทยฐานะแก่ผู้ผ่านการศึกษาหรือฝึกอบรม (อศป.) ปี 2556-2557 และ 6.คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน
ทั้งนี้ในคำร้องที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ระบุว่าผู้ฟ้องได้ยื่นขอจัดตั้งเป็นองค์กรฝึกอบรมในฐานะที่เป็นสถาบันสมทบกับ สพฉ.โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการตามที่ สพฉ.กำหนด โดยได้ไปขอสมทบกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นสถาบันหลักในปี 2557 แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นองค์กรฝึกอบรมแต่อย่างใด โดยได้รับการปฏิเสธว่าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่ได้เป็นสถาบันหลักที่ได้รับการรับรองโดย อศป.
อย่างไรก็ดี กลับพบว่ามีองค์กรเอกชน เป็นโรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง 2 แห่ง และโรงพยาบาลซึ่งจดทะเบียนในนามมูลนิธิอีก 1 แห่ง กลับได้รับการพิจารณารับรองให้เป็นองค์กรฝึกอบรม โดยที่โรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งนี้ ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแต่อย่างใด
หนังสือฟ้องร้องระบุว่า การที่ สพฉ.เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์เองว่าการขอเป็นองค์กรฝึกอบรมขององค์กรเอกชน จะต้องไปขอสมทบกับสถาบันหลักที่รับรองโดย อศป. เพราะฉะนั้นการที่โรงพยาบาลเอกชนทั้ง 3 แห่งไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด แต่กลับได้รับการรับรองเป็นองค์กรฝึกอบรมจาก สพฉ.ภายใต้การเห็นชอบโดย อศป. จึงเป็นการกระทำทุจริตโดยเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรอื่นๆ ที่มีความประสงค์จะขอรับเป็นองค์กรฝึกอบรม
เช่นเดียวกับคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ปล่อยปละละเลยให้ สพฉ.และ อศป.กระทำการทุจริตโดยไม่กำกับดูแล ก็ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย
- 190 views