สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข เผยการทำงานรณรงค์ การกำหนดนโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ แอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด และอุบัติเหตุบนถนน จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจแบบแผนทางวัฒนธรรมที่กำกับแบบแผนพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ และขยายมุมมองต่อ “ประชากรกลุ่มเสี่ยง” ที่กว้างขึ้น
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการศึกษาวิจัยในประเด็นพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพที่ผ่านมามุ่งเน้นรูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณเป็นหลัก ซึ่งแม้จะมีประโยชน์แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องนี้ เนื่องจากการวิจัยเชิงปริมาณให้ความสำคัญกับประเด็นคำถามหรือข้อมูลที่วัดค่าเป็นตัวเลขได้เป็นหลักทำให้ละเลยประเด็นคำถามหรือข้อมูลที่วัดด้วยเครื่องมือเชิงปริมาณไม่ได้ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่หลายเรื่องนั้นเป็นประเด็นสำคัญต่อการทำงานรณรงค์ป้องกันในเรื่องนี้
ตัวอย่างเช่น การวิจัยเชิงปริมาณอาจตอบคำถามได้ว่าในช่วงเข้าพรรษานั้นมีผู้ปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษจำนวนเท่าไหร่ และงดได้จนครบพรรษากี่เปอร์เซ็นต์ของผู้ปฏิญาณตนทั้งหมด แต่การตอบคำถามว่าทำไมบางคนตัดสินใจงด บางคนตัดสินใจไม่งด พุทธศาสนามีอิทธิพลมากแค่ไหนต่อการตัดสินใจนี้ “เหล้า” มีนัยความหมายทางสังคมและเศรษฐกิจในชุมชนหรือไม่ และการงดเหล้าเข้าพรรษาส่งผลต่อนัยความหมายนี้อย่างไรบ้าง การ “งด” และ “ไม่งด” ของชาวบ้านมีความหมายเหมือนกับที่องค์กรรณรงค์หรือบุคลากรสาธารณสุขเข้าใจหรือไม่ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นประเด็นคำถามและต้องการข้อมูลที่ไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่มีความสำคัญอย่างมากในการทำความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพของผู้คน ซึ่งการจะตอบคำถามเหล่านี้ได้จะต้องอาศัยการวิจังเชิงคุณภาพเป็นหลักเท่านั้น
การทำวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งเน้นการเก็บข้อมูลแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึก และเก็บข้อมูลระยะเวลานาน จะช่วยขยายกรอบคิดมุมมองต่อ “ความเสี่ยงสุขภาพ” (risk health) และ “กลุ่มเสี่ยง” (risk groups) จากความรู้ที่ได้จากทำวิจัยเชิงปริมาณและการวิเคราะห์สถิติบนฐานประชากร สู่การทำความเข้าใจมุมมอง การให้ความหมาย และประสบการณ์ทางสังคมที่หลากหลายของกลุ่มเสี่ยงที่แสดงออกต่อปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นและวัฒนธรรมย่อย รวมทั้งคุณค่าทางสังคมและความเชื่อท้องถิ่นที่ส่งผลต่อการรับรู้ความเสี่ยงและกำกับพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ ตลอดจนการตอบสนองและการแสดงออกของผู้คนในแต่ละท้องถิ่นที่มีต่อการรณรงค์ มาตรการทางสังคม และนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงสุขภาพจากภาครัฐ
นอกจากการทำวิจัยเชิงคุณภาพจะทำให้เห็น “วัฒนธรรมของชาวบ้าน” แล้วยังช่วยให้มองเห็นและสำรวจตรวจสอบ “วัฒนธรรมผู้เชี่ยวชาญ” หรือค่านิยม วิธีคิด สมมุติฐาน อุดมการณ์ ที่เป็นฐานในการมองประเด็นพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพของคนทำงานในเรื่องนี้ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการออกแบบกิจกรรมการรณรงค์และนโยบายสาธารณะอีกด้วย
แผนงานวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ โดยสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ พัฒนาหลักสูตร “นักวิจัยวัฒนธรรมความเสี่ยงสุขภาพ” (The cultural and health risk studies program-CHR Studies Program) อบรมต่อเนื่อง 1 ปี มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักวิจัยประจำสถาบันหรือศูนย์วิจัยที่ศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ 4 ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ คือ แอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด และอุบัติเหตุบนถนน, นักวิจัยจากงานประจำ (Routine to Research), นักระบาดวิทยาประจำหน่วยงานต่างๆ, บุคลากรสุขภาพ, อาจารย์, บุคลากรภาคประชาสังคม และนักศึกษา
มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักวิจัยที่มีความรู้ความเข้าใจแนวคิดทฤษฎีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมิติสังคมวัฒนธรรมของความเสี่ยงสุขภาพ ทักษะการทำวิจัยเชิงคุณภาพ และเพื่อพัฒนาสถานะองค์ความรู้และเผยแพร่ตัวอย่างงานวิจัยในประเด็นมิติสังคมวัฒนธรรมของปัจจัยเสี่ยงสุขภาพในวงกว้าง
แผนงานวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ มีเป้าหมายสำคัญว่า ผลที่ได้จากหลักสูตรอบรมครั้งนี้จะสร้างนักวิชาการทั้งจากองค์กรภาครัฐและภาคประชาสังคมที่มีมุมมองที่กว้างขึ้นในการทำงานเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงสุขภาพและกลุ่มเสี่ยง และมีความละเอียดอ่อนในการออกแบบแผนงานพัฒนาสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพของผู้คน โดยเคารพความแตกต่างหลากหลายของวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละสังคมและวัฒนธรรมย่อย
ดูรายละเอียดหลักสูตรอบรมฯ ได้ที่นี่
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ นายสิทธิโชค ชาวไร่เงิน สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) โทร 02-590-2365 / 084-677-0490
- 73 views