กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ-ตำรวจ ปคบ.บุกจับคลินิกเสริมความงาม ย่านห้วยขวาง เปิดโดยไร้ใบอนุญาต มีประชาชนไปใช้บริการร้องเรียน ผลการตรวจพบผู้ให้การรักษาอ้างจบแพทย์จากเกาหลีไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมไทย ใช้สเต็มเซลล์ รักษา อ้างทำให้หน้าอ่อนวัย ซึ่งยังไม่มีหลักฐานวิชาการรองรับ ลงดาบสั่งปิดคลินิกทันที พร้อมดำเนินคดี 4 กระทง ผิดทั้งประกอบวิชาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยาเถื่อน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย สบส. พันตำรวจโทอภิชัย ไลออน รองผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เข้าตรวจสอบ คลินิกวีวีไอพีคลินิก (VVIP Clinic) ตั้งอยู่เลขที่ 34/2 ถนนเทียนร่วมมิตร แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กทม. ใกล้บริเวณสถานีรถไฟใต้ดินศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนหลังฉีดโบท๊อกซ์ แล้วมีอาการหน้าเบี้ยว เกิดอาการแพ้ยา
นพ.บุญเรือง กล่าวว่า จากการตรวจสอบสถานพยาบาลแห่งนี้ เป็นคลินิกเสริมความงาม เปิดบริการมาแล้ว 6-7 เดือน มีนางสาวพิชญนันท์ อายุ 28 ปี เป็นเจ้าของกิจการและเป็นผู้ให้บริการด้วย ซึ่งบอกว่าจบแพทย์จากประเทศเกาหลี โดยให้การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม โดยมีการเจาะเลือดใส่หลอดแล้วนำไปปั่นแยกตะกอนจากนั้นจึงนำมาฉีดเพื่อเสริมความงามให้ดูเยาว์วัย ซึ่งคลินิกได้สื่อสารเพื่อจูงใจให้คนหลงเชื่อและมารับบริการ
ในวันนี้พบของกลางคือ หลอดเลือด 23 หลอด พร้อมเครื่องปั่น 2 เครื่อง และยังมีเวชภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันหลายรายการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนขออนุญาตจาก อย. ในเบื้องต้นได้แจ้งข้อหานางสาวพิชญนันท์ 4 ข้อหา ได้แก่
1) ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2) ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3) จำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
และ 4) จำหน่ายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการรับรอง ขณะนี้ สบส.กำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.เซลล์บำบัดเพื่อใช้ในการรักษาโรคให้มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาโรคอย่างมีคุณภาพ และเป็นไปตามหลักวิชาการ ประชาชนมีความปลอดภัย” อธิบดี สบส.กล่าว
ด้าน นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ขอย้ำเตือนในการขออนุญาตเปิดสถานพยาบาลทั้งประเภทค้างคืนและไม่ค้างคืน ใน กทม.จะต้องยื่นขออนุญาตที่ สบส. หรือส่วนภูมิภาคยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยต้องผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการสถานพยาบาล และได้รับอนุญาตจาก สบส.ก่อน ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 97 วัน เพื่อตรวจสอบมาตรฐานสถานพยาบาล 5 ด้าน อย่างเคร่งครัด ทั้งสถานที่ ผู้ดำเนินการ การบริการ เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ทุกแห่งจะต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อยกเว้น ในระหว่างที่รอพิจารณาผู้ขออนุญาตสามารถดำเนินการจัดเตรียมความพร้อมสถานที่ได้ แต่ยังเปิดบริการไม่ได้จนกว่าจะได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ ก่อนรับบริการเสริมความงามจากคลินิกต่างๆ ขอให้ประชาชนสังเกตหลักฐานที่ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541กำหนด คือ
1) ต้องแสดงใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย
2) สถานพยาบาลจะต้องติดป้ายชื่อ ประเภทและลักษณะการให้บริการของสถานพยาบาล รวมทั้งเลขที่ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลซึ่งมีเลขจำนวน 11 หลัก ที่ด้านหน้าสถานพยาบาล
และ 3) ให้ติดป้ายชื่อพร้อมรูปถ่าย เลขที่ใบอนุญาตของแพทย์ที่ทำการรักษา ที่หน้าห้องตรวจ-รักษา
โดยประชาชนสามารถตรวจสอบแพทย์ที่ทำการรักษาว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ได้ที่ เว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) และตรวจสอบสถานพยาบาลว่าได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ได้ที่เว็บไซต์สบส. (www.hss.moph.go.th) และคลิกไปที่หัวข้อสถานบริการสุขภาพ หากมีข้อสงสัยหรือพบสถานพยาบาลและหมอเถื่อนสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่เว็บไซต์สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ (http://www.mrd.go.th/ mrdonline2014), เฟซบุ๊คมือปราบสถานพยาบาลเถื่อน, เฟซบุ๊คสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ และสายด่วน สบส.02-193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง
- 304 views