กระทรวงสาธารณสุขทำขาเทียมให้คนพิการทั่วประเทศ ตอบสนองนโยบายรัฐบาลลดความเหลื่อมล้ำการให้บริการคนพิการทางการเคลื่อนไหว ครบ 100% ในปี 2559
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มจำนวนคนพิการเพิ่มขึ้น ทั้งจากโรคเรื้อรัง อุบัติเหตุ และสูงวัย ในปี พ.ศ.2555 มีคนพิการได้รับการขึ้นทะเบียน 1.5 ล้านคน โดยร้อยละ 48 เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ซึ่งมีประเด็นท้าทายทั้งในระดับสากลและระดับประเทศ คือ การเข้าไม่ถึงหรือมีข้อจำกัดในการจัดระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ การไม่ได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการทั้งที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพและคงสภาพความสามารถทางร่างกายและจิตใจของคนพิการ และการป้องกัน บรรเทาการเกิดความพิการแต่กำเนิด/ซ้ำซ้อน/ถาวร รวมทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในชุมชน
คนพิการแขนขาขาด เป็นคนพิการกลุ่มหนึ่งที่หากได้รับการเข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ ร่วมกับการได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการที่เหมาะสม และการได้รับความรู้ในการป้องกัน บรรเทาการเกิดความพิการซ้ำซ้อน/ถาวรภายหลังแขนขาขาดอย่างถูกต้องเหมาะสม จะช่วยส่งเสริมให้คนพิการสามารถเข้าถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอื่นๆ เช่น การประกอบอาชีพและการศึกษา ซึ่งจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จากการดำเนินงานตัวชี้วัดกระทรวงสาธารณสุข ประเด็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว (ขาขาด) ตอบสนองนโยบายรัฐบาลลดความเหลื่อมล้ำการให้บริการคนพิการทางการเคลื่อนไหวให้ได้รับบริการครบถ้วนร้อยละ 100 ภายใน 3 ปี (พ.ศ.2557-2559) ผลการดำเนินงานปี 2557 ร้อยละ 88.94 ปี 2558 ร้อยละ 95.77 และในปี 2559 ครบร้อยละ 100 พบว่าทุกพื้นที่ดำเนินนโยบายเชิงรุกมีการออกหน่วยเคลื่อนที่และช่วยเหลือให้บริการ แบ่งปันทรัพยากรภายในเขตบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นผลดีต่อคนพิการทางการเคลื่อนไหวให้ได้รับบริการครบถ้วนทั่วประเทศ
จึงได้มอบให้สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ จัดทำโครงการมอบแขนขาเทียมให้คนพิการทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนพิการแขนขาขาดทั้งรายเก่าและรายใหม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ ได้รับบริการการฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้รับกายอุปกรณ์เสริมและเทียม รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องช่วยที่จำเป็นที่มีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมให้คนพิการแขนขาขาดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปี 2557- 2559 กรมการแพทย์ได้ให้บริการคนพิการทางการเคลื่อนไหว จำนวน 7,795 ราย โดยให้บริการทำแขนขาเทียมแก่คนพิการทั่วประเทศ จำนวน 3,078 ราย ให้บริการซ่อมแซมแขนขาเทียมแก่คนพิการ 1,176 ราย รวมทั้งให้บริการด้านอื่นๆ เช่น รถนั่งคนพิการ รถสามล้อโยก อุปกรณ์ช่วยเดิน จำนวน 3,541 ราย
กรมการแพทย์ ได้มอบรถทำแขน-ขาเทียม มูลค่า 12.5 ล้านบาท จำนวน 1 คัน ให้แก่โรงพยาบาลพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งภายในรถประกอบด้วยอุปกรณ์สำหรับทำแขน-ขาเทียม เช่น หัวขุดเบ้าขาเทียม ตู้อบความร้อน เครื่องขัดกระดาษทราย ระบบดูดฝุ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติยังมีรถทำแขน-ขาเทียม จำนวน 2 คัน ไว้ให้บริการประชาชนทั่วประเทศ โดยให้บริการออกหน่วยเคลื่อนที่ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว รวม 63 ครั้ง โดยทำงานร่วมกับหน่วยกายอุปกรณ์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ประมาณ 200 แห่ง
ทั้งนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จะมีการจัดงาน “โครงการคนไทยไม่ทอดทิ้งกัน คนพิการขาขาดทุกคนได้รับขาเทียม 100 %” โดยมีกิจกรรมให้บริการตรวจประเมินความพิการ ออกเอกสารรับรองความพิการ จดทะเบียนคนพิการ ทำขาเทียม และให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้และการดูแลรักษาขาเทียม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 11 - 26 กันยายน 2559 ณ บริเวณถนนสาธารณสุข 2 กระทรวงสาธารณสุข อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งจะมีพิธีมอบขาเทียมและอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ในวันที่ 26 กันยายน 2559 ณ โถงชั้น 1 อาคาร 3 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและลงทะเบียนเพื่อเข้ารับบริการได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 สิงหาคม 2559 ที่หมายเลขโทรศัพท์ 06-3643-0610-2
- 122 views