อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยัน พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ไม่มีผลกระทบต่อการประกอบาชีพนวดของผู้พิการทางสายตากว่า 4,500 คนอย่างแน่นอน ชี้หลังมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ จะผ่อนผันให้ประกอบอาชีพตามปกติต่อได้อีก 180 วัน พร้อมเร่งรับรองหลักสูตรที่ได้มาตรฐาน เพื่อสามารถประกอบอาชีพได้ต่อเนื่องโดยขณะนี้มีหลักสูตรกลาง 255 ชั่วโมงรองรับอยู่แล้ว
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับผู้แทนมูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพนวดของผู้พิการทางสายตา อาทิ ผู้แทนศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ผู้แทนมูลนิธิคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากสภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้แทนสมาคมส่งเสริมการนวดแผนไทยคนตาบอด ผู้แทนชมรมสุขสัมผัสพัฒนาการนวดไทย เป็นต้น เพื่อเยียวยาแก้ไขปัญหาภายหลังที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ในวันที่ 27 กันยายน 2559 โดยมี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ว่า จากข้อมูลที่ได้จากมูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอด ในขณะนี้มีสถานประกอบการนวด ที่ให้บริการโดยผู้พิการทางสายตา ประมาณ 1,000 แห่งมีผู้ให้บริการประมาณ 4,500 คนทั่วประเทศ
ผลการหารือในวันนี้มี 3 ประเด็น ประเด็นแรก คือ หลัง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 กันยายน 2559 สบส.จะผ่อนผันให้สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ได้แก่ สปา นวดเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อเสริมความงาม จำนวน 1,609 แห่ง ที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานจาก สบส. รวมทั้งสถานบริการนวดของผู้พิการทางสายตา สามารถให้บริการต่อไปอีก 180 วัน ในระหว่างนี้ให้ยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ สบส.ควบคู่กันไปด้วย
ประเด็นที่สอง ในกรณีของผู้พิการทางสายตาที่ประกอบอาชีพนวดมาก่อนแล้ว และผ่านการอบรมจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และมูลนิธิช่วยคนตาบอดในหลักสูตรนวดไทยเพื่อสุขภาพสำหรับผู้พิการทางสายตา 255 ชั่วโมง สามารถยื่นขออนุญาตเป็นผู้ให้บริการนวดกับ สบส.ได้ทันที เนื่องจากหลักสูตรดังกล่าว สบส.ได้ใช้เป็นหลักสูตรกลาง 1 ใน 11 หลักสูตรที่ให้การรับรอง
ประเด็นที่สาม ในกรณีของผู้พิการทางสายตาที่ไม่ได้สำเร็จการอบรมจากหลักสูตรที่กล่าวมาข้างต้น สบส.ได้วางแนวทาง โดยจะดำเนินการเร่งรับรองหลักสูตรที่เปิดอบรมไม่ว่าจะเป็นการนวดสำหรับผู้พิการทางสายตา 330 ชั่วโมง, 800 ชั่วโมง และ1,500 ชั่วโมงก็ตาม โดยจะนำ มาเทียบกับหลักสูตรฯ กลาง 255 ชั่วโมงที่ได้รับการรับรองว่าได้คุณภาพ มาตรฐาน ทั้งเนื้อหาและวิทยากรที่สอนว่ามีความรู้ความสามารถตรงกับสาขาที่สอนหรือไม่ หากไม่ตรงตามเกณฑ์ก็จะดำเนินการส่งเสริมให้ผู้พิการสายตาได้รับการอบรมเพิ่มเติม เพื่อให้ได้มาตรฐานและได้รับใบประกาศนียบัตรรับรอง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการนวดกับ สบส.
“จึงขอให้ผู้พิการทางสายตาที่ประกอบอาชีพนวดอยู่ในขณะนี้ คลายกังวลได้ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและอาชีพนวด มีคุณภาพมาตรฐาน สร้างรายได้ และเป็นการส่งเสริมสุขภาพให้ประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้หากผู้พิการทางสายตารายใหม่ที่ต้องการประกอบอาชีพนวดก็สามารถเข้ารับการอบรมหลักสูตรนวดไทยเพื่อสุขภาพสำหรับผู้พิการทางสายตา 255 ชั่วโมงที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และมูลนิธิช่วยคนตาบอดได้” อธิบดี สบส.กล่าว
- 10 views