กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หนุน คอนโดเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) “Healthy Condo” ต้นแบบบูรณาการด้านส่งเสริมสุขภาพ 5 กลุ่มวัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชนที่พักอาศัย
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้ดำเนินการโครงการ 100 ตำบลต้นแบบบูรณาการด้านส่งเสริมสุขภาพ 5 กลุ่มวัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินงานเป็นรูปแบบพื้นที่ชุมชนแบบแนวนอน ประชากรอาศัยร่วมกันเป็นหมู่บ้าน ในขณะที่ในปัจจุบันโดยเฉพาะในเขตเมืองเป็นรูปแบบชุมชนแนวตั้งคอนโด การเข้าถึงระบบบริการ การส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้ยาก
จ.นนทบุรีซึ่งเป็นพื้นที่เขตเมืองที่มีการอยู่อาศัยของประชากรในรูปแบบที่หลากหลาย รวมถึงมีรูปแบบชุมชนแนวตั้ง กรมอนามัยจึงเห็นความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพภายใต้อนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดีของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบในเขตเมือง จึงได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนและสนับสนุนการดูแลสุขภาพของประชาชนที่พักอาศัยในชุมชนคอนโดมิเนียม “Healthy Condo” ระหว่างภาคีเครือข่าย 8 องค์กร ได้แก่ 1) บ้านเอื้ออาทรท่าอิฐ 2) การเคหะแห่งชาติ 3) อบต.บางรักน้อย 4) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี 5) โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า 6) สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองกรมควบคุมโรค 7) ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี และศูนย์อนามัยที่ 13 กรุงเทพฯ และ 8) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4
โดยมีกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มวัยต่างๆ ดังนี้ กลุ่มวัยเด็กมีการคัดกรองเด็กพัฒนาการ ส่งเสริมให้มีพัฒนาการสมวัย เด็กที่พัฒนาการล่าช้า อสม. แนะนำให้แม่ทำกิจกรรมเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ กลุ่มเด็กวัยเรียน หากพบเด็กอ้วน อสม.ให้พบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ กลุ่มวัยรุ่น ส่งเสริมเล่นดนตรีไทย ห่างไกลยาเสพติด กลุ่มวัยทำงาน ส่งเสริมการบริโภคอาหารลดหวาน มัน เค็ม เพื่อลดโรค ตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และกลุ่มผู้สูงอายุมีการเยี่ยมและดูแลผู้ป่วยติดเตียง ส่งเสริมให้มีกิจกรรมนันทนาการ ลีลาศ แอร์โรบิค และทำดอกไม้ประดิษฐ์ พร้อมทั้งส่งเสริม การออกกำลังกายทุกกลุ่มวัย มีการผลิตน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น
นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้การใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ถูกจำกัดพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมือง ที่คนไม่มีทางเลือกพื้นที่อยู่อาศัยที่กว้างขวาง แต่ต้องเลือกอาศัยอยู่ในตึกที่มีความสูงหลายชั้น อาทิ อาคารชุด คอนโด อพาร์ทเมนท์ ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อปัญหาคุณภาพในอากาศที่อาจเกิดจากฝุ่นละอองจากเครื่องปรับอากาศที่ขาดการดูแล สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้คุณภาพอากาศไม่ดี โดยเฉพาะหากไม่มีระบบถ่ายเทอากาศที่ดีพอ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมา เสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ
ข้อมูลสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2555 พบคนไทยป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ มีอัตราป่วย 473.34 ต่อประชาชน 1,000 คน อีกทั้งยังทำให้เสี่ยงโรคอาคารป่วย (Sick building Syndeom) ที่มีการสูดดมฝุ่นละออง สารระเหย เป็นต้น โดยอาการของโรคแบ่งได้ 5 กลุ่ม คือ 1) อาการระคายเคืองตา มีอาการตาแห้ง น้ำตาไหล ตาแดง ระคายเคืองตา จะเป็นมากในรายที่ใส่คอนแทคเลนส์ 2) อาการคัดจมูก ระคายเคืองคอจาม ไอ 3) อาการทางลำคอ คอแห้ง ระคายคอ หายใจลำบาก 4) อาการผิวหนังแห้ง คัน เป็นผื่น ผิวหนังอักเสบ และ 5) อาการปวดศีรษะบริเวณหน้าผาก เหนื่อยล้า มึนงง โดยอาการเหล่านี้จะดีขึ้นหรือหายได้เอง เมื่อออกจากอาคารไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง
แนวทางในการปรับปรุงคุณภาพอากาศในอาคารชุด คอนโด อพาร์ทเมนท์ ควรปฏิบัติดังนี้
1.ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ และเครื่องกรองอากาศอย่างสม่ำเสมอ ทำความสะอาดห้อง พื้นห้อง เพดานห้องรวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ภายในห้องให้สะอาด และไม่เป็นที่สะสมของฝุ่นละออง
2.จัดให้มีระบายอากาศให้เพียงพอ สำหรับห้องที่ไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศ ให้เปิดหน้าต่างรับอากาศภายนอก ส่วนห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ ให้เปิดพัดลมระบายอากาศ
3.ควรติดตั้งเครื่องกรองอากาศ หรือเครื่องฟอกอากาศ เพื่อดักฝุ่นละออง มลพิษ แบคทีเรีย เชื้อรา และสิ่งปนเปื้อนในอากาศอื่น ๆ ที่มีผลโดยตรงต่อสุขภาพ
4.ควรปลูกต้นไม้ลดมลพิษ เช่น กล้วยไม้ พลับพลึงด่าง เศรษฐีเรือนใน ลิ้นมังกร เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในห้องให้ดีขึ้น ด้วยการฟอกอากาศดูดสารพิษ และก๊าซเสียของมนุษย์ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดับกลิ่น เพิ่มออกซิเจน เป็นการสร้างความสดชื่น
“ส่วนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในคอนโด ขณะนี้กรมอนามัย โดยศูนย์อนามัยที่13 กรุงเทพมหานคร กำลังดำเนินงานสำรวจสถานการณ์การจัดการขยะในคอนโด เพื่อประเมินประเภทปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ประเมินความรู้ ความต้องการเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในการ คัดแยกขยะ ด้วยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วม สร้างเครือข่าย และเฝ้าระวัง ซึ่งจะมีแผนการดำเนินงาน GREEN & CLEANคอนโด ในปี 2560 ต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
- 74 views