รองนายกรัฐมนตรี มอบกระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนและปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ ตั้งเป้ามีคลินิกหมอครอบครัว 2,200 แห่งในปี 2570 เป็นคลินิกดูแลสุขภาพประจำครอบครัว กระจายครอบคลุม ดูแลสุขภาพคนไทยกว่า 65 ล้านคน ด้วยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและสหสาขาวิชาชีพ ดูแลประชากร 10,000 คนต่อ 1 ทีม เนื่องจากประชาชนมากกว่าร้อยละ 50 เข้ารับบริการในโรงพยาบาลด้วยโรคพื้นฐาน
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการบริหารจัดการ บริการสุขภาพปฐมภูมิ จังหวัดขอนแก่น และให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนและปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ คลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster) เนื่องจากประชาชนมากกว่าร้อยละ 50 เข้ารับบริการในโรงพยาบาลด้วยโรคพื้นฐาน โดยร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ผลิตแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพเพื่อดูแลสุขภาพคนไทยกว่า 65 ล้านคน
รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท ในปี 2559 สร้างคลินิกหมอครอบครัว 8 แห่งกระจายในทุกภูมิภาค 8 จังหวัด คือ บุรีรัมย์ กำแพงเพชร ขอนแก่น เพชรบูรณ์ ตรัง เชียงใหม่ น่าน พิษณุโลก และในขณะนี้ได้บริการคลินิกหมอครอบครัวแล้ว 48 แห่ง ใน 16 จังหวัด ให้บริการโดยทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่ประกอบด้วยสหวิชาชีพดูแลประชากร 10,000 คนต่อ 1 ทีม
โดยใช้หลักเวชศาสตร์ครอบครัว ดูแลความเจ็บป่วยของ “คน” แบบองค์รวม มากกว่าดูแลเฉพาะ “โรค” ในทุกมิติสุขภาพทั้งด้าน การรักษา ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู ให้บริการทั้งก่อนป่วยจนถึงระยะสุดท้าย รวมทั้งเชื่อมโยงระบบบริการสุขภาพจากชุมชนสู่คลินิกหมอครอบครัว และโรงพยาบาลแม่ข่าย ด้วยระบบส่งต่อ ให้คำปรึกษา รักษาพยาบาล ระบบยาและเวชภัณฑ์ ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อลดป่วย ลดตาย ลดแออัด ลดรอคอย ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารอันทันสมัย
ตั้งเป้าภายในปี 2560 จะมีคลินิกดูแลสุขภาพประจำครอบครัวครบ 1 ล้านครอบครัว และมุ่งสู่เป้าหมายทุกพื้นที่ทั่วประเทศในปี 2570 ตั้งเป้ามีคลินิกหมอครอบครัว 2,200 แห่งในปี 2570 ด้วยการทำงานร่วมกันในทุกระดับ ทุกมิติ ด้วยแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ รวมกว่า 6,500 ทีม เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพประชาชนในยุคดิจิทัล สะดวกและรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมเกิดความมั่นคงด้านสุขภาพ และพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
สำหรับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีประชากร 401,371 คน ได้สนับสนุนการพัฒนาบริการปฐมภูมิ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ ใกล้บ้านมากขึ้น ลดความแออัดในโรงพยาบาล มีคลินิกหมอครอบครัว ผลการดำเนินการ ประชาชนในพื้นที่เข้ารับบริการเปรียบเทียบสัดส่วนการมารับบริการระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิเครือข่ายกับโรงพยาบาลแม่ข่าย ในสัดส่วน 72 : 28 การเยี่ยมบ้านกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ผู้สูงอายุติดเตียง ผู้ป่วยระยะท้าย และคนพิการ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังติดเตียง ผู้ป่วยวัณโรค และผู้ป่วยมะเร็ง ได้ร้อยละ 90.23 มีระบบช่องทางด่วนโรคที่สำคัญ (Fast tract) ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และมีตำบลต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว
- 215 views