คกก.กำลังคนสุขภาพเร่งศึกษาการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพในทศวรรษหน้า หลังพบสารพัดปัจจัยภัยคุกคามสุขภาพคนไทย และสังคมยุคดิจิตอลทำให้ความสนใจเรียนวิชาชีพสาธารณสุขลดลง ด้าน สธ.เผยแผนยุทธศาสตร์กำลังคนสุขภาพ 20 ปี ตั้งเป้าหมายแพทย์ 1 คน พยาบาล 4 คน ดูแลประชากร 10,000 คน เตรียมนำร่องเขตบริการสุขภาพที่ 2 ก่อน
เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2559 ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ มี นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม โดย นพ.มงคล กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าของ “การวิจัยการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพในทศวรรษหน้า” ซึ่งนับว่าเป็นงานวิชาการที่สำคัญมากต่อระบบสุขภาพของประเทศที่ในอนาคตกำลังต้องเผชิญหน้าปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเกิดโรคอุบัติใหม่ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นต้น การวิจัยครั้งนี้ระดมนักวิชาการจากหลากหลายสาขาวิชาชีพในระบบสุขภาพ และยังศึกษาการทำงานข้ามสาขาวิชาชีพของกำลังคนที่จะทำงานเป็นทีมสุขภาพร่วมกันในการบริการสุขภาพที่จำเป็นในอนาคตด้วย เช่น การบริการปฐมภูมิ การสร้างเสริมและป้องกันโรค การดูแลผู้สูงอายุด้วย
นพ.ฑิณกร โนรี ผู้ช่วยเลขานุการกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ และนักวิจัย สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มเติมข้อมูลการทำงานของการวิจัยการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพในทศวรรษหน้าว่า ในเดือนกรกฎาคมนี้ ทีมวิจัยจะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิต่อข้อสรุปเบื้องต้นจากคณะทำงานทั้ง 16 ชุดวิจัยย่อย และจะพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการยกร่างแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2560-2569 และเร่งประเมินผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2550–2559 เพื่อปิดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งในกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 2 ด้วย
นพ.มงคล ย้ำว่า ร่างแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2560-2569 จะต้องมุ่งเน้นบูรณาการทิศทางร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรวิชาชีพต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ใช่คำนึงแต่ระดับนโยบายส่วนกลางเท่านั้น แต่แผนใหม่นี้ควรขับเคลื่อนและสนองตอบบริการสุขภาพระดับพื้นที่ด้วย เช่น การสร้างอาสาสมัครด้านสุขภาพที่เข้มแข็ง การจัดทีมแพทย์ประจำตำบลเพื่อดูแลระบบบริการปฐมภูมิ ด้วย
“ในทศวรรษหน้า โลกจะเข้าสู่ยุคดิจิตอลมากขึ้น พฤติกรรมความสนใจของเยาวชนในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย วิชาชีพด้านสาธารณสุขอาจไม่ใช่ความต้องการศึกษาต่ออันดับหนึ่งอีกต่อไป โจทย์ใหญ่คือเราจะวางแผนการผลิตกำลังคนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ บริหารจัดการ กระจายกำลังคนอย่างไรให้เหมาะสม มากกว่าให้ความสำคัญเชิงปริมาณ เพราะปัจจุบันมีตัวอย่างบางพื้นที่ แม้กำลังคนเพียงพอ แต่เครื่องมือหรืออุปกรณ์การแพทย์กลับไม่พร้อม หรือบางแห่งมีแพทย์ผ่าตัดแต่ไม่มีเตียงผ่าตัด ดังนั้น ถ้าไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดีก็เท่ากับเสียเปล่า”
ที่ประชุมยังได้รับทราบแผนยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) โดย นพ.สุวิชา ศฤงคารพูนเพิ่ม รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สธ. กล่าวว่า แผนดังกล่าวมีเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข และระบบสุขภาพยั่งยืน ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์หลัก ครอบคลุมการวางแผนกำลังคน การผลิตและพัฒนาประสิทธิภาพ พร้อมพัฒนาเครือข่ายภาคประชาชนด้านสุขภาพ โดยมีเป้าหมายแพทย์ 1 คน พยาบาล 4 คน ดูแลประชากร 10,000 คน จะนำร่องในพื้นที่บริการสุขภาพเขต 2 ก่อน
“กลยุทธ์สำคัญ คือ มุ่งเชื่อมโยงเครือข่ายให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ถึงตติยภูมิ ปรับปรุงระบบใช้บุคลากรลดลง แต่กระจายไปยังส่วนที่ขาด พร้อมจัดทีมที่ปรึกษา แพทย์ครอบครัว ให้เกิดความเชื่อมั่นสูงขึ้น ลดความต้องการ (Want) ของประชาชนที่ไม่จำเป็นลง ส่วนความต้องการที่จำเป็น (Need) จะจ่ายงานบริการไปยังเครือข่ายสังกัดอื่นๆ นอกกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
- 56 views