บอร์ด สปสช.ออกประกาศขอบเขตบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2559 เพิ่มความชัดเจนในการปฏิบัติให้ รพ. ขณะที่ประชาชนรับทราบถึงการบริการคัดกรองความเสี่ยง และการส่งเสริมสุขภาพที่ดี
นพ.กฤช ลี่ทองอิน ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนบริการระดับปฐมภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ออกประกาศประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2559 ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ลงนามประกาศเมื่อวันที่ 7 เม.ย.59 เพื่อความชัดเจนในการจัดทำคำขอและแนวทางปฏิบัติเพื่อใช้จ่ายงบประมาณหมวดส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
นพ.กฤช กล่าวต่อว่า ในระยะเริ่มแรกของการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.ได้กำหนดให้ดำเนินการตามประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขตามหมวด 4 ว่าด้วยการรับบริการทางการแพทย์ ของระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2544 โดยใช้มากว่าสิบปี กระทั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นเดิน (สตง.) เสนอแนะให้ สปสช.ออกประกาศประเภทและขอบเขตของการบริการสาธารณสุขด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามมาตรา 5 วรรค 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สปสช.เห็นความจำเป็นและได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปีงบประมาณ2555 โดยสนับสนุนโครงการประเมินนโยบายและเทคโนโลยีสุขภาพ (HITAP) ทำการศึกษาวิจัยและทบทวนสิทธิประโยชน์รายการบริการหรือกิจกรรมบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตั้งแต่ปี 2555-2557 จนยกร่างเป็นประกาศเพื่อเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งขาติพิจาณาเห็นชอบเมื่อปลายปี 2558 หรือต้นปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมา
นพ.กฤช กล่าวว่า เนื้อหาประกาศฉบับนี้ประกอบด้วย นิยามความหมายของบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเป็นไปตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งให้นิยาม “บริการสร้างเสริมสุขภาพ” หมายความว่าบริการหรือกิจกรรมที่ให้โดยตรงแก่บุคคล ครอบครัว เพื่อสร้างเสริมความตระหนักและขีดความสามารถของบุคคลในการดูแลสุขภาพของตนเอง และ “บริการป้องกันโรค” หมายความว่า บริการหรือกิจกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ให้โดยตรงแก่บุคคล ครอบครัวหรือกลุ่มบุคคลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค นอกจากนี้ยังกำหนดขอบเขตบริการสร้างเสริมสุขภาพและบริการป้องกันโรค ดังนี้
1.การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพและศักยภาพที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างเสริมสุขภาพ
2.การสร้างเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การให้คำปรึษาแนะนำ การให้ความรู้และการสาธิตเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
3.การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน การใช้ยา และการทำหัตถการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเฝ้าระวังโรค และบริการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนหรือการชะลอความรุนแรงของการป่วย โดยถือว่าเป็นการรักษาพยาบาล
4.รายการบริการหรือกิจกรรมบริการสร้างเสริมสุขภาพและบริการป้องกันโรค เป็นไปตามเอกสารแนบท้ายประกาศ กรณีการเปลี่ยนแปลงรายการบริการหรือกิจกรรมบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ให้เป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการหรือสำนักงานประกาศกำหนด
นพ.กฤช กล่าวอีกว่า ประกาศประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคฉบับนี้ไม่เพียงแต่สร้างความชัดเจนให้กับหน่วยบริการในการปฏิบัติ แต่ยังทำให้ประชาชนรับทราบถึงการบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพที่จะได้รับบริการ
อย่างไรก็ตามการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ โดยไม่ต้องรอการบริการจากหน่วยบริการ อาทิ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที การกินอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม กินผักผลไม้ให้มากขึ้น ทำอารมณ์ให้แจ่มใส เลิกบุหรี่สารเสพติด ลดการดื่มสุรา ก็ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และยังสามารถทำให้โรคเหล่านี้ทุเลาลงหรือดีขี้น ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลชองประเทศได้
- 46 views