ผอ.รพ.บ้านแพ้ว เผย 17 ปี หลังออกนอกระบบ เป็น รพ.รัฐ “องค์การมหาชน” พัฒนาจาก รพช. เป็น รพท. เตรียมเพิ่มสาขาจิตเวช บริการทางการแพทย์ครบทุกสาขา ระบุมีผู้ป่วยนอกรับบริการ 3 พันคนต่อวัน ดูแลผู้ป่วยใน 300 เตียง ทั้งในและนอกพื้นที่ แถมอยู่ระหว่างสร้างตึกขยายผู้ป่วยในเป็น 500 เตียง เหตุจากความคล่องตัวการบริหารสูง ส่งผลต่อประสิทธิภาพดำเนินงาน ประชาชนได้ประโยชน์ ซ้ำภาครัฐ/สธ. ประหยัดไม่ต้องหนุนงบประมาณ แต่ยังทำงานตามนโยบาย พร้อมหนุน รพ.สังกัด สธ.ที่มีความพร้อมออกนอกระบบเพิ่ม คาดมีไม่ถึง 10 แห่ง
นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร
นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โรงพยาบาลบ้านแพ้วออกนอกระบบปี 2543 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อความคล่องตัวการบริหารและให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดีขึ้น โดยบริหารรูปแบบคณะกรรมการ มีผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้แทนชุมชน และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นกรรมการบริหาร นอกจากการดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐแล้ว ยังเน้นตอบสนองความต้องการชุมชน ซึ่งผลดำเนินงานจากความคล่องตัวการบริหาร รพ.ที่เพิ่มขึ้นนี้ โดยเฉพาะด้านการเงิน ส่งผลให้ รพ.บ้านแพ้ว มีการพัฒนาต่อเนื่อง ทั้งด้านการบริหารและบริการผู้ป่วยที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.พรเทพ กล่าวว่า ในด้านการบริหารงบประมาณ ปกติ รพ.รัฐต้องแบ่งหมวดค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน อย่างหมวดก่อสร้างอาคาร หมวดจัดซื้อเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ และหมวดค่าใช้จ่ายอื่น ไม่สามารถโยกงบได้ แม้ว่าบางหมวด รพ.จะไม่ได้ใช้ หรือมีค่าใช้จ่ายหมวดใดที่ไม่เพียงพอ การจะโยกงบได้นั้น ต้องขออนุมัติกระทรวงการคลังและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก่อน ส่งผลการบริหาร รพ.ติดขัด แต่หลังออกนอกระบบ รพ.บ้านแพ้วได้รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดและปรับใช้ตามความเหมาะสม โดยนำเสนอต่อบอร์ดที่มีความใกล้ชิดและรู้ปัญหา รพ.อนุมัติ จึงเป็นความคล่องตัวการบริหาร
ตัวอย่างการบริหารที่คล่องตัว เช่น กรณี รพ.ไม่มีแพทย์ผ่าตัดสมอง แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งต้องได้รับการรักษา รพ.สามารถจัดสรรงบเพื่อเชิญแพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองมารักษาให้กับผู้ป่วยใน รพ.ได้ ทำให้ผู้ป่วยในพื้นที่เข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น หรือโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกให้กับผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งต้องขนย้ายอุปกรณ์ผ่าตัดและเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการจ่ายค่าตอบแทนแพทย์และพยาบาลเพื่อเดินทางไปผ่าตัด การทำแบบนี้หากเป็น รพ.รัฐทั่วไปจะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องทำเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อนุมัติ ขณะที่ รพ.บ้านแพ้ว ดำเนินการได้ทันทีโดยการอนุมัติจากบอร์ด
“จากการออกนอกระบบครั้งนี้ สิ่งที่ผู้ป่วยได้รับคือการรับการรักษารวดเร็วขึ้น อย่างการผ่าตัดต้อกระจก ผู้ป่วย รพ.บ้านแพ้วจะมีคิวผ่าตัดไม่เกิน 1 เดือน ขณะที่ รพ.อื่นอาจรอนาน 6 เดือน ถึง 1 ปี ทั้งนี้เป็นเพราะ รพ.สนับสนุนให้แพทย์ผ่าตัดเพื่อลดคิวรอผู้ป่วย แม้แต่นอกเวลาราชการ โดย รพ.จะมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับแพทย์และเจ้าหน้าที่ตามภาระงานในอัตราที่เหมาะสมที่ไม่ต้องอิงกับหลักเกณฑ์ของ สธ. แต่เป็นไปตามกลไกตลาด”
นพ.พรเทพ กล่าวว่า ส่วนที่มาของงบประมาณ เดิม รพ.บ้านแพ้วได้รับงบจาก สธ. ทั้งเงินเดือนบุคลากร อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการก่อสร้างอาคาร หลังจากออกนอกระบบทำให้ต้องหารายได้เพื่อดำเนินการเอง ส่วนหนึ่งเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวจากการดูแลประชากรผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 80,000 คน จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และการจัดบริการสุขภาพและรักษาเพื่อหารายได้เพิ่มเติม เช่น การรับจัดบริการตรวจสุขภาพให้กับข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ โดย รพ.บ้านแพ้ว เป็น รพ.ที่ออกหน่วยตรวจสุขภาพอยู่ในอันดับต้นของประเทศ รวมถึงการเปิดสาขา รพ.ทั้งที่สาขาพร้อมมิตรและศูนย์ราชการ ทำให้มีรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ยังมีผู้บริจาคเงินในการก่อสร้างอาคารเพื่อสนับสนุน รพ.บ้านแพ้วเพื่อจัดบริการที่ดีให้กับผู้ป่วย เหล่านี้ทำให้ รพ.บ้านแพ้ว มีรายได้เพียงพอที่จะบริหาร รพ.ได้
“แต่ละปี รพ.บ้านแพ้วมีรายรับราว 1,600 ล้านบาท แต่เรามีค่าใช้จ่ายประมาณที่ 1,500 ล้านบาท มีส่วนต่างเพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น เป็นโจทย์ทำให้ รพ.ต้องหารายได้เพิ่มเติมด้วยการขยายบริการ แต่ด้วยความเป็น รพ.ออกนอกระบบและเป็นองค์การมหาชน ทำให้มีความคล่องตัวในการจัดการบริหาร ประกอบกับความร่วมมือจากแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ทำให้ รพ.ดำเนินอยู่ได้และมีประสิทธิภาพและเป็นตัวอย่างให้กับ รพ.รัฐอื่นได้”
นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า รพ.บ้านแพ้วเดิมเป็นเพียงโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) แต่การพัฒนาต่อเนื่อง ปัจจุบันถูกยกเป็นโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ระดับ S มีผู้ป่วยนอกรับบริการ 3,000 คนต่อวัน โดย รพ.ได้เปิดบริการแพทย์เกือบทุกสาขา และเตรียมที่จะเปิดแผนกจิตเวชเพิ่มเติม ขณะที่ผู้ป่วยในมีจำนวน 300 เตียง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม ซึ่งใน 2 ปีข้างหน้าจะรองรับผู้ป่วยได้ถึง 500 เตียง ซึ่งจะทำให้ รพ.มีรายได้เพิ่มขึ้น
“การออกนอกระบบไม่ได้ทำให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขเสียประโยชน์ แต่ตรงข้ามกลับทำให้ได้ประโยชน์มากกว่า คือ 1.ช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ โดยเฉพาะเงินเดือนแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ของ รพ.บ้านแพ้ว จากเดิมที่รัฐต้องสนับสนุน ปัจจุบันเรามีจำนวน 1,100 คน แต่ รพ.ยังคงต้องดำเนินตามนโยบายของ สธ.ในการดูแลสุขภาพเช่นเดิม 2.ได้ รพ.ที่มีประสิทธิภาพการบริหารที่สูงขึ้น จากการประเมินโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ระบุว่า การออกนอกระบบของ รพ.บ้านแพ้ว สามารถสร้างประสิทธิผลได้มากกว่าเดิมถึง 10 เท่า และ 3.ขณะเดียวกัน รพ.ยังคงต้องดำเนินตามนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นบริการวัคซีน และการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ เช่นเดียวกับ รพ.รัฐในระบบ”
ส่วนความเห็นต่อการออกนอกระบบของ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น นพ.พรเทพ กล่าวว่า แม้ว่า รพ.ออกนอกระบบจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่ใช่ทุก รพ.จะออกนอกระบบได้ทั้งหมด ควรดำเนินการเฉพาะ รพ.ที่มีความพร้อมระดับหนึ่ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีถึง 10 แห่งหรือไม่ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ เช่น มีห้องพิเศษ มีเครื่องมือแพทย์ระดับหนึ่งที่ไม่ต้องลงทุนมาก และมีบุคลากรที่มุ่งมั่นและตั้งใจให้ รพ.ออกนอกระบบ รวมถึงผู้บริหารที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบุกเบิก นอกจากนี้ยังต้องมีชุมชนที่เข้มแข็งและให้การสนับสนุนได้ ซึ่ง รพ.ต้องประเมินตัวเองให้ดี
- 31 views