กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สนับสนุนภาคประชาชนจัดตั้ง “ศูนย์พิทักษ์สิทธิสุขภาพภาคประชาชน”ระดับจังหวัด 76 แห่งทั่วประเทศ ให้ อสม.ทำหน้าที่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นศูนย์ ข้อมูลข่าวสาร เผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิทธิด้านสุขภาพของประชาชน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคสุขภาพขั้นพื้นฐาน ให้ประชาชนรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อ โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง สามารถตัดสินใจเลือกรับบริการที่ถูกต้อง ปลอดภัย ดำเนินการจัดตั้งแล้ว 62 จังหวัด
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2559 นี้ สบส.ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่หลักในการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบบริการสุขภาพและระบบสุขภาพภาคประชาชน ได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสนับสนุนภาคประชาชนจัดตั้ง “ศูนย์พิทักษ์สิทธิสุขภาพภาคประชาชนระดับจังหวัด” ทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.เป็นแกนนำ เพื่อเสริมสร้างความเข็มแข็งของภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมปกป้องสิทธิ และจัดการแก้ไขกับปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในจังหวัด ซึ่งในปัจจุบันนี้พบว่าหลายพื้นที่ประสบปัญหา มีการจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐาน และการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ซื้อมาบริโภคจนเกิดอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งปัญหาด้านการบริการสุขภาพ การดูแลรักษาพยาบาล
ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า ในปี 2558 มีประชาชนร้องเรียนด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข อาทิ การให้ปรึกษา การย้าย สอบถามสิทธิประโยชน์ต่างๆ ร้อยละ 24.44 ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ร้อยละ 24.44 ด้านมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข ร้อยละ 20 ด้านอาหาร ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ร้อยละ 67.74 เครื่องสำอาง ร้อยละ 19.35 โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ 9.68 และยา ร้อยละ 3.23 เป็นต้น
นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า ศูนย์พิทักษ์สิทธิสุขภาพภาคประชาชนนี้จะทำหน้าที่หลักๆ สำคัญ 7 ประการได้แก่
1.เผยแพร่ รณรงค์ ความรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่ในการพิทักษ์สิทธิด้านสุขภาพ
2.ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์สุขภาพเบื้องต้น โดยใช้ชุดทดสอบภาคสนามตามความจำเป็น รู้ผลถึงการปนเปื้อน อันตรายได้ทันที
3.ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านบริการสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วิทยาศาสตร์การแพทย์สำหรับชุมชน และภัยสุขภาพต่างๆ ให้ประชาชนสามารถตัดสินใจในการรับบริการด้านสุขภาพ และบริโภคผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน
4.ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพิทักษ์สิทธิด้านสุขภาพแก่ประชาชน
5.เป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับบริการด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือภัยสุขภาพต่างๆ ประสานกับหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
6.สร้างความร่วมมือกับองค์กรพิทักษ์สิทธิอื่นๆ ในพื้นที่และขยายเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชนอื่นๆ เช่น แกนนำนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในด้านนี้กว้างขวางยิ่งขึ้น
และ 7.เป็นตัวแทนของภาคประชาชนเพื่อการพิทักษ์สิทธิด้านสุขภาพ
“จนถึงขณะนี้ สามารถจัดตั้งไปแล้ว 62 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางทั้งหมด เหลือในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด จะดำเนินการเดือนมิถุนายน 2559 โดยกรม สบส.จะติดตามประเมินผลทุก 3 เดือน และระยะต่อไปจะขยายลงสู่ระดับอำเภอ จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลคุ้มครองความปลอดภัยได้ทั่วถึงยิ่งขึ้นไปอีก” นพ.บุญเรืองกล่าว
- 7 views