กระทรวงสาธารณสุข จัดทำยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ รองรับแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย นำเทคโลยีสารสนเทศ เพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ทุกที่และเท่าเทียมกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดี
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559 ที่โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะกรุงเทพฯ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“พลวัตแห่งโลกสาธารณสุขด้วยการใช้เทคโนโลยี” ในงานอบรมสัมมนาทางวิชาการและแสดงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่องานสาธารณสุขและการแพทย์ (Healthcare Technology Summit 2016) ว่า ในยุคที่มีการปรับเปลี่ยนจากยุค Analog เป็น Digital ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจะรวดเร็วมากขึ้น เช่น โรคที่มาใหม่ โรคซิกา การให้ข้อมูลที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเข้าถึงปัญหาให้เร็วและชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยมี eHealth ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2020 และมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี
กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพหรือ eHealth รองรับรัฐบาลดิจิทัล ในแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2559-2561) โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงาน 6 ข้อ ดังนี้
1.จัดตั้งองค์กรกลางความร่วมมือบริหารจัดการ eHealth
2.พัฒนาและปรับปรุงสถาปัตยกรรมโครงสร้างพื้นฐาน
3.สร้างมาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพ เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลมีประสิทธิภาพ
4.ขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อระบบบริการสุขภาพ รวมทั้งมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
5.ผลักดันการใช้กฎหมาย ระเบียบ วิธีปฎิบัติและมาตรฐานที่เหมาะสม
และ 6.พัฒนาทุนมนุษย์ด้าน eHealth จัดการความรู้ด้านการแพทย์และสุขภาพ
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น บันทึกและส่งต่อข้อมูลการรักษาได้อย่างมีคุณภาพ สามารถดึงข้อมูลจากหลายแหล่งได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ช่วยให้แพทย์มีข้อมูลมากยิ่งขึ้น ทำให้การรักษามีความเหมาะสม ผู้ป่วยสามารถได้รับการดูแลรักษาจากระยะไกล สามารถได้รับคำปรึกษาผ่าน VDO และติดตามอาการใน 24 ชั่วโมง ถ่ายทอดข้อมูลผ่าน Wireless กรณีฉุกเฉินสามารถแจ้งให้เพื่อนบ้านทราบหรือโทรติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือจากบริการฉุกเฉินของโรงพยาบาล ที่สำคัญคือ ประชาชนสามารถจัดการสุขภาพของตัวเองด้วยข้อมูลสุขภาพที่เชื่อถือและเข้าถึงคำแนะนำได้
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการมีดังนี้
1.บูรณาการข้อมูลประชาชนให้เป็นภาพเดียวโดยเชื่อมโยงข้อมูลกับเลขประจำตัว 13 หลักของกระทรวงมหาดไทยกับข้อมูลการรับบริการของผู้ป่วย สามารถติดตามประวัติของผู้ป่วยได้
2.ให้บริการภาครัฐแบบเฉพาะเจาะจงรายบุคคล ครบวงจร ณ จุดเดียว ของสนง.รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
3.การให้บริการเสร็จสิ้น ณ จุดให้บริการ มีบางส่วนที่ไม่สามารถให้บริการจบลงครั้งเดียวได้เช่น การขอใบอนุญาต ส่วนช่องทางการร้องเรียนได้พัฒนา Mobile application ที่ติดต่อกับผู้ขอรับบริการได้ เช่น MOPH App, ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน, GIS Health ค้นหา รพ., กดดูรู้โรค
4.นำข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลสุขภาพ (Health Data Center) มาใช้ในการบริหารจัดการการให้บริการเช่นบริการวัคซีน ดูแลติดตามผู้ป่วยโรคเอดส์ ติดตามการพัฒนาเด็กและจัดสรรงบประมาณประจำปี 2561
5.ใช้ระบบ Private Cloud เป็น Server เก็บข้อมูลการให้บริการ
และ 6.พัฒนาและตั้งคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล
ทั้งนี้ ได้มอบให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำนโยบาย eHealth จาก WHO มาปรับใช้และเข้าได้กับนโยบายของรัฐบาลดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ มุ่งเน้นโดยตรงต่อประชาชน เพื่อประโยชน์ประชาชน
- 223 views