กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ออกแบบบ้านที่เหมาะเป็นที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ รองรับสังคมผู้สูงวัยของประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดในปี 2557 ไทยมีผู้สูงอายุ 10 ล้านกว่าคน ชี้บ้านที่เหมาะคือชั้นเดียว พื้นบ้านเรียบเสมอกันหมด ไม่มีธรณีประตู พื้นสาก ไม่ขัดเงา ประตูกว้างกว่าบ้านปกติ ห้องน้ำ ห้องส้วมกว้าง มีราวจับช่วยพยุงตัว ผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โลดได้ฟรีที่ กองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทย มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2557 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 10 ล้านกว่าคน หรือประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่อยู่ในนอกเขตเทศบาล โดยผลสำรวจสุขภาพของผู้สูงอายุล่าสุดในปี 2556 โดยกรมอนามัย พบว่ามีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่สุขภาพดี ที่เหลือเป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ อันดับ 1 ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 41 โรคเบาหวานร้อยละ 18 ข้อเข่าเสื่อมร้อยละ 9 เป็นผู้พิการร้อยละ 6 ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 19 มองเห็นไม่ชัดเจน นอกจากนี้ยังพบเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 1 และเป็นผู้ป่วยติดเตียงร้อยละ 1
นอกจากนี้ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2557 พบว่ามีผู้สูงอายุเกือบร้อยละ 9 หรือประมาณ 9 แสนกว่าคน ที่อยู่บ้านตามลำพัง ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวในรอบ 20 ปี เนื่องมาจาก โสด หรือไม่มีลูกหลาน คู่สมรสเสียชีวิตก่อน หรือลูกหลานมีภารกิจอยู่ต่างถิ่น
อธิบดี สบส.กล่าวต่อว่า ในการจัดระบบรองรับการเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเหมาะสม สบส.ได้ให้กองแบบแผนซึ่งมีสถาปนิกที่มีความชำนาญ ออกแบบอาคารสถานพยาบาลและพื้นที่บริการที่เหมาะสมเพื่อดูแลรักษาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย และได้ออกแบบบ้านพักอาศัยที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัยกับสภาพร่างกายและสุขภาพ เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และตามกฎกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2548 ว่าด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคาร สำหรับคนชรา ผู้พิการ บ้านที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้สูงอายุคือบ้านชั้นเดียว มีระบบระบายอากาศดี ประตูเข้าออกกว้างกว่าปกติ เผื่อจำเป็นต้องใช้รถเข็นนั่ง โดยมี 3 จุดที่ต้องให้ความสำคัญ ประการแรกได้แก่ ต้องไม่มีธรณีประตู
ประการที่ 2 พื้นภายในบ้านจะต้องเรียบเสมอกันหมด เพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม ใช้วัสดุทำพื้นที่มีลักษณะสาก ไม่ควรใช้กระเบื้องขัดเงา เพื่อป้องกันการลื่นหกล้ม เป็นอันตรายได้
“ประการที่ 3 คือห้องน้ำห้องส้วม ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมากที่สุด โดยออกแบบประตูให้กว้าง เพื่อให้สามารถใช้รถเข็นนั่ง เข้าออกได้สะดวก มีช่องลมอากาศถ่ายเทดี ภายในมีราวจับทั้งที่ผนัง และที่สุขภัณฑ์เช่นส้วม อ่างล้างหน้า เพื่อใช้สำหรับช่วยพยุงตัว มีที่นั่งพัก ควรใช้ส้วมชนิดนั่งราบ วัสดุปูพื้นควรใช้ชนิดผิวไม่เรียบ เพื่อป้องกันลื่นล้ม โดยแบบบ้านนี้สามารถนำไปประยุกต์ดัดแปลงบ้านที่มีอยู่แล้วก็ได้ ประชาชนที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดแบบบ้านได้ที่เว็บไซต์ของ สบส. (www.hss.moph.go.th) และเลือกเมนูที่กองแบบแผน และคลิกที่แบบบ้านผู้สูงอายุได้” อธิบดี สบส.กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับการดูแลผู้สูงอายุในภาพรวมทั้งหมดในปี 2559 นี้ สบส.ได้บูรณาการดูแลในรูปของตำบลจัดการสุขภาพ ซึ่งในปีนี้มีเป้าหมาย 5,000 ตำบล บูรณาการระบบการดูแลผู้สูงอายุที่มีเงื่อนไขทางสุขภาพต่างกัน ทั้งที่ยังเดินไปไหนมาไหนได้เอง เดินไม่ได้หรือต้องพึ่งพิงผู้อื่นช่วยดูแล โดยมีอสม.เชี่ยวชาญการดูแลผู้สูงอายุ เป็นผู้จัดการดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดระบบการดูแลให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน และจะขยายผลทั่วประเทศในระยะต่อไป ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลในชุมชนอย่างอบอุ่น โดยจะขยายให้ครอบคลุมทุกตำบลภายใน พ.ศ.2561
- 122 views