เปิดบัญชียายอดแย่ที่ควรถอดออกจากประเทศไทย เตือนประชาชนระวังตำรับยาต้านแบคทีเรียบางรายการที่ไม่เหมาะสม ใช้ไม่ได้ผล เสี่ยงสุขภาพ และเสี่ยงต่อเชื้อดื้อยา เสียชีวิตจากการดื้อยา ส่งผลต่อมูลค่าเศรษฐกิจ เผย“ยาอม-ยาแก้ท้องเสีย และยาสูตรผสม” ทำให้ชาวบ้านสับสน มีส่วนผสมของยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็น ชี้เด็กกลุ่มเสี่ยงดื้อยาสูงสุด เหตุผู้ปกครองใช้เพื่อการรักษาผิดประเภท ด้านเครือข่ายนักวิชาการเล็งยื่นหนังสือถึง รมว.สธ.แนะ อย.ถอนบัญชียายอดแย่
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559 ที่ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดแถลงข่าว "เตือนภัยตำรับยาต้านแบคทีเรียที่ควรถอดถอนออกจากประเทศไทย"
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พบรายงานการวิจัยระบุว่า ในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา อย่างน้อยปีละ 20,000-38,000 คน ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 46,000 ล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมหรือเกินความจำเป็น และในปัจจุบันยังมีทะเบียนตำรับยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมอย่างแพร่หลายตามท้องตลาด
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า จากการรวบรวมบัญชียายอดแย่ที่มีส่วนผสมของยาต้านแบคทีเรียโดยเครือข่ายส่งเสริมการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุผลซึ่งมาจากการรวมตัวของนักวิชาการ แพทย์ เภสัชกร เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเด็ก โดยการสนับสนุนของ สสส.เพื่อให้ความรู้แก่สังคมในการป้องกันความเสี่ยงทางสุขภาพแก่ผู้บริโภค ได้ทบทวนรายการยาต้านแบคทีเรียในประเทศเพื่อคัดเลือกรายการยาที่ควรถอนทะเบียนตำรับยาออกจากประเทศไทยพบว่า มีตั้งแต่ยาอมที่ไม่ควรมีส่วนผสมของยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เพราะ 80% ของอาการเจ็บคอไม่ได้เกิดจากเชื้อดังกล่าวและอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในลำไส้ เช่นเดียวกับยาแก้ท้องเสียที่ 80% เกิดจากเชื้อไวรัส รวมถึงอันตรายจากสูตรผสมของยาต้านแบคทีเรียในยาประเภทต่างๆ โดยทางเครือข่ายนักวิชาการจะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ อย.ถอนบัญชียาเหล่านี้ออกจากประเทศ และผู้บริโภคสามารถตรวจสอบบัญชียายอดแย่ที่มีส่วนผสมของยาต้านเชื้อแบคเรียได้ที่ www.thaidrugwatch.org หรือ www.thaihealth.or.th
ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล วุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) กล่าวว่าตัวอย่างยาที่สมควรดำเนินการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาก่อนเป็นอันดับแรก คือ ยาอมที่มีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะ (ยาต้านแบคทีเรีย) โดยเฉพาะสูตรยาที่มีนีโอมัยซิน (Neomycin) เพราะยาปฏิชีวนะนีโอมัยซินไม่ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเจ็บคอ แต่ออกฤทธิ์ได้ต่อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ เมื่อกลืนยาลงไปจะชักนำให้เกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่มที่มีชื่อว่าอะมิโนกลัยโคไซด์ (Aminoglycoside) ทั้งกลุ่ม ซึ่งยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้เป็นยาที่ใช้ช่วยชีวิตคนที่ติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือด
ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะทำงานด้านยาปฏิชีวนะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มีผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาปีละ 45,000 รายและการติดเชื้อดื้อยาในผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลก็มีจำนวนมากขึ้น และมีผลทำให้การรักษายุ่งยากเพราะต้องรักษาด้วยยาที่แพงกว่าปกติหรืออาจต้องฉีดยาวันละหลายครั้ง ซึ่งผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาลหรือต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อฉีดยาแทนที่จะใช้ยารับประทานอยู่ที่บ้าน ต้นตอของปัญหาคือเชื้อดื้อยาจากการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่มากเกินความจำเป็นและใช้อย่างไม่ถูกต้อง เพราะสามารถหาซื้อยาเหล่านี้ได้ทั่วไป
รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุดในการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียดื้อยา เพราะเด็กยังมีภูมิคุ้มกันที่ยังพัฒนาไม่ได้เต็มที่ การเจ็บป่วยส่วนใหญ่ของเด็กจะเริ่มจากการติดเชื้อไวรัส แต่ผู้ปกครองไม่ทราบวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้น จึงมักให้ “ยาแก้อักเสบ” ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะเป็นยาต้านแบคทีเรียทั้งที่ยากลุ่มนี้ไม่ออกฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยในช่วง 2 – 3 วันแรก
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือในเด็กปกติที่มีสุขภาพแข็งแรงดีมาก่อน เมื่อเริ่มมีอาการที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ เช่น มีไข้ และอาการทางระบบทางเดินหายใจ หรือท้องเสีย ถ่ายเหลว ควรให้การรักษาประคับประคองตามอาการอย่างเหมาะสม เช่น ให้ยาแก้ไอ ยาลดอาการคัดจมูก ลดไข้ ในช่วงที่มีอาการเท่านั้น ไม่ควรให้ยาบรรเทาอาการในช่วงที่ไม่มีอาการ หากเด็กยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ เช่น กินได้ เล่นได้ นอนหลับพักได้ดี ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียมารับประทานเอง เพราะอาจเสี่ยงต่อเชื้อดื้อยารุนแรงจนรักษาไม่ได้ในอนาคต
ขอบคุณภาพ: สำนักข่าวอิศรา
- 826 views