เตรียมเสนอ สภา กทม.อนุมัติตั้ง “กองทุนสุขภาพท้องถิ่น กทม.” 8 มิ.ย.นี้ เดินหน้างานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดึงประชาชนมีส่วนร่วม หลัง คกก.วิสามัญศึกษาฯ สรุปผลศึกษาไม่ซ้ำซ้อน จัดตั้งได้ คาดเริ่มงบปี 60 ประเดิมกองทุน 400 ล้านบาท สปสช.หนุน 250 ล้านบาท กทม.สมทบ 150 ล้านบาท
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานกรรมการวิสามัญศึกษาการจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่น สภากรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการพิจารณาจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่น กทม.ว่า ที่มาของการจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่น กทม. สืบเนื่องมาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกระเบียบการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ปี 2549 ที่ให้แต่ละท้องถิ่นมีกองทุนสุขภาพของตนเอง เพื่อดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วน เป็นการจัดตั้งกองทุนตามความสมัครใจและความพร้อมแต่ละท้องถิ่น ซึ่ง สปสช.จะสนับสนุนงบประมาณให้ 45 บาทต่อหัวประชากร โดยท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะต้องสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม ตั้งแต่ 30-45 บาท แล้วแต่ศักยภาพของท้องถิ่นนั้น
ทั้งนี้ในปี 2557 หลังดำเนินการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ 8 ปี สปสช.จึงได้ขยายให้รวมถึงพื้นที่ กทม. แต่ที่ผ่านมาทางผู้บริหาร กทม.ไม่ค่อยมั่นใจที่จะทำในเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าการสนับสนุนงบประมาณกองทุนนี้จะมีความซ้ำซ้อนกับงบประมาณที่ดำเนินงานในโครงการต่างๆ ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นงบส่งเสริมและพัฒนาชุมชน งบสนับสนุนการดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) รวมถึงงบเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้การเบิกจ่ายมีปัญหาทางการหมายภายหลังได้ จึงยังไม่ดำเนินการ
นพ.พรเทพ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จึงได้เสนอต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร จัดตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่นขึ้น ประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้ รวมทั้งจัดหารูปแบบการจัดตั้งกองทุน โดยได้มีการประชุมพิจารณาอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมาได้เป็นการประชุมในนัดสุดท้ายและเตรียมจะนำรายงานผลการศึกษาแถลงต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครในวันที่ 8 มิ.ย. ต่อไป
“ผลสรุปจากการศึกษา กทม.สามารถจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่น กทม.ได้ แต่เนื่องจาก กทม.มีพื้นที่และการบริหารที่หลากหลาย ทั้งยังมีขนาดใหญ่กว่าเทศบาลหลายร้อยเท่า ดังนั้นการบริหารจึงต้องแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ คณะกรรมการกองทุนสุขภาพท้องถิ่น กทม. ซึ่งเป็นคณะกรรมการส่วนกลาง และคณะกรรมการสุขภาพท้องถิ่นระดับเขต ซึ่งหากที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบ ทางผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะประสานไปยัง สปสช.เพื่อออกระเบียบเพิ่มเติมในการจัดตั้งกองทุนต่อไป” นพ.พรเทพ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามคาดว่าในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ซึ่งเริ่มต้นปีงบประมาณ 2560 จะมีงบเข้าสู่กองทุนนี้ 400 ล้านบาท โดยเป็นงบสนับสนุนจาก สปสช 250 ล้านบาท และ กทม.อีก 150 ล้านบาท เฉลี่ย 80 บาทต่อประชากร กทม. เพื่อนำสู่การสร้างสุขภาพและสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับคณะกรรมการกองทุนสุขภาพท้องถิ่น กทม. จะมีผู้แทนจากองค์กรภาครัฐ อสส. ผู้นำชุมชนต่างๆ เข้าร่วม ซึ่งชุมชนที่เสนอโครงการเข้ามาต้องมีความเข้มแข็งพอควรเพื่อให้ผลของการดำเนินโครงการสู่ประชาชนในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกันงบประมาณเหล่านี้จะไปสู่สถานบริการและศูนย์บริการสาธารณสุขที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านด้วย
- 5 views