กลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.สมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จ.สกลนคร ไอเดียเจ๋ง นำกระปุกยาเปล่าประดิษฐ์ “เครื่องช่วยคำนวณขนาดยาในเด็ก” นำวัสดุเหลือใช้ทำประโยชน์ ช่วยลดความผิดพลาดการสั่งจ่ายยาในเด็กถึงร้อยละ 92.31 ลดเวลาคำนวณลงได้ร้อยละ 92.31 แถมพัฒนารูปแบบดึงดูดน่าใช้ ต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหางานประจำ
การให้ยาในเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่ต้องได้รับขนาดยาตามสัดส่วนของน้ำหนักและอายุ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความผิดพลาดในการคิดคำนวณปริมาณยาได้ ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการรักษาที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายกรณีที่ได้รับยาต่ำกว่าขนาดยาที่กำหนด แต่ยังอาจได้รับผลข้างเคียงได้ในกรณีที่รับยาเกินขนาดได้
จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นที่มาของนวัตกรรม “เครื่องมือช่วยคำนวณขนาดยาในเด็ก” (Kids Can) โดยกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน ซึ่งได้ร่วมกันพัฒนาจนได้รับ “รางวัลนวัตกรรมดีเด่น” ในการประชุมถอดบทเรียนงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ “เภสัชกรรมปฐมภูมิ: จากความร่วมมือสูงความสำเร็จ” โดยวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ภก.วิษณุ ยิ่งยอด (ขวาสุด)
ภก.วิษณุ ยิ่งยอด กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จ.สกลนคร กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของพัฒนา นวัตกรรมเครื่องมือช่วยคำนวณขนาดยาในเด็กว่า แนวคิดเริ่มมาจากการทำงานในวิชาชีพเภสัชกร โดยได้ทำงานเภสัชกรด้านปฐมภูมิที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน ต้องออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยรวมถึงลงพื้นที่ทำงานยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นประจำและต่อเนื่อง ซึ่งบริทบของ รพ.สต. ส่วนใหญ่จะไม่มีแพทย์ประจำ ผู้ปฏิบัติงานจึงเป็นพยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุข ในการทำหน้าที่ดูแลสุขภาพเบื้องต้นให้กับชาวบ้าน รวมถึงการสั่งจ่ายยาเล็กๆ น้อยๆ เพื่อรักษาอาการป่วย
ทั้งนี้ด้วยการให้ยาในเด็กมีความต่างจากผู้ใหญ่ ต้องใช้สัดส่วนยาที่น้อยกว่า ทำให้ต้องมีการคำนวณการให้ยาตามน้ำหนักและอายุ จึงมีโอกาสเกิดความผิดพลาดในการสั่งจ่ายยาได้ เนื่องจากบุคลากรเหล่านี้ไม่ใช่วิชาชีพแพทย์โดยตรง ทั้งยังต้องใช้เวลาในการคำนวณสัดส่วนการให้ยาที่เหมาะสม จึงคิดหาวิธีเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มความสะดวกในการคำนวณยาในเด็ก
“แม้ว่าความผิดพลาดในการสั่งจ่ายยาที่พบ ส่วนใหญ่จะเป็นความผิดพลาดเล็กน้อยที่ยอมรับได้ แต่อาจส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยที่เป็นเด็กได้ รวมถึงประสิทธิผลในการรักษา ซึ่งจากการทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยเด็กในหน่วยบริการปฐมภูมิย้อนหลังด้วยการสุ่มตรวจใบสั่งยา 300 ใบ พบความคลาดเคลื่อนการสั่งใช้ยาในเด็ก ร้อยละ 8.6 ส่วนใหญ่เป็นยาปฏิชีวนะ ร้อยละ 80.76 ด้วยเหตุนี้กลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.สมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จึงเห็นว่าควรหาวิธีแก้ไขปัญหาและยังนำไปสู่การป้องกันความเสี่ยงที่รุนแรงจากการสั่งใช้ยาผิดพลาดได้ เนื่องจากยาบางรายการมีฤทธิ์ต่อตับ บางรายการมีผลกดระบบทางเดินหายใจ บางรายการทำให้เกิดภาวะท้องผูก ซึ่งในกรณีรุนแรงนำไปสู่การเสียชีวิตได้”
ภก.วิษณุ กล่าววว่า ช่วงเริ่มต้นของการคิดประดิษฐ์เครื่องช่วยคำนวณยาในเด็กนี้ เป็นการนำแผ่นกระดาษมาทดลองทำก่อน แต่ปรากฏว่ายังมีความคลาดเคลื่อนในการแสดงผลค่อนข้างมากและไม่ต่างจากเดิม จึงลองมองหาวัสดุอื่นๆ ที่มีอยู่มาปรับใช้ทดแทน และเห็นว่าในงานเภสัชกรรมมีกระปุกยาพลาสติกที่เหลือใช้จำนวนมาก จึงนำมาทดลองประดิษฐ์ โดยใช้กระปุกยา Sodamint และกระปุกยา Ferrous sulfate มาซ้อนกันเพื่อให้สามารถหมุนได้ พร้อมติดฉลากรายชื่อยา ข้อมูลน้ำหนักตัวของเด็ก และข้อมูลปริมาณขนาดของยาที่ได้มีการคิดคำนวณที่บนกระปุกยา และมีการเจาะช่องกระปุกยาด้านนอกเพื่อใช้วัดแสดงผลการคำนวณ
ภก.วิษณุ กล่าวว่า นวัตกรรมชิ้นนี้ได้ประดิษฐ์ขึ้นและใช้มาเป็นเวลาประมาณ 2 ปีแล้ว การติดตามวัดผลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ รพ.สต.เครือข่าย และห้องฉุกเฉินของ รพ.สมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดินในช่วงนอกเวลาราชการ พบว่าอัตราความผิดพลาดการสั่งจ่ายยาในเด็กลดลงได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
“จากผลติดตามและวิเคราะห์ภายหลังการใช้เครื่องมือช่วยคำนวณขนาดยาในเด็กในการปฏิบัติงาน พบว่าช่วยลดการเกิดความคลาดเคลื่อนการสั่งใช้ยาลงได้ เหลือเพียงร้อยละ 0.66 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 8.6 โดยคิดเป็นอัตราการลดลงของความคลาดเคลื่อนในการสั่งใช้ยา ร้อยละ 92.31 โดยความคลาดเคลื่อนทางยาในการสั่งใช้ยาที่ยังพบอยู่ เป็นความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการสั่งใช้ยาซ้ำซ้อนซึ่งพบ 2 ใบสั่งยาจากการสุ่มทั่งหมด” ภก.วิษณุ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังได้วัดผลการลดระยะเวลาในการสั่งใช้ยา จากเดิมซึ่งใช้เวลา 3.24 นาที เหลือเพียง 1.21 นาที หรือใช้เวลาเพื่อสั่งใช้ยาลดลงร้อยละ 62.66 ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงมีความสะดวกในการสั่งใช้ยาในผู้ป่วยเด็ก แต่มีความแม่นยำเพิ่มขึ้น
ภก.วิษณุ กล่าวว่า จากนวัตกรรมชิ้นนี้ ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีนำเสนอผลงานวิชาการต่างๆ ซึ่งหลักการในการทำเครื่องช่วยคำนวณยาในเด็กไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ส่วนใหญ่จะชอบแนวคิดการนำวัสดุเหลือใช้มาทำประโยชน์ และมีรูปแบบที่น่าใช้ โดยก่อนหน้านี้เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดผลงานนวัตกรรมจังหวัดสกลนคร และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารยุพราช ซึ่งเป็นวารสารในเครือข่ายของ รพ.สมเด็จพระยุพราช จนได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นจากประชุมถอดบทเรียนงานเภสัชกรรมปฐมภูมิที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้อาจมีการต่อยอดเครื่องช่วยคำนวณยาในเด็ก ในกลุ่มยาต้องให้กับผู้ป่วยโดยเร็วและมั่นใจในโด๊สยา
นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความใส่ใจต่องานประจำ นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคช่วยเพิ่มคุณภาพการบริการและดูแลชีวิตผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น
- 398 views