รพ.สต.บ้านต้าย แห่งนี้ ตั้งอยู่ใน ต.บ้านต้าย อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร นับเป็นหน่วยบริการอีกแห่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานร่วมกับแม่ข่ายและชุมชนในพื้นที่

อภิชาติ สิงห์ชัย ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านต้าย เล่าประสบการณ์การพัฒนาว่า ก่อนที่จะมีเกณฑ์ประเมิน รพ.สต.ติดดาวเข้ามานั้น บุคลากรใน รพ.สต.ก็ทำงานกันตามปกติ โดยคิดว่าทำดียู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเข้ารับการประเมิน จึงมาไล่เรียงดูว่าเทียบกับงานประจำที่ทำอยู่แล้ว มีข้อไหนที่ผ่านเกณฑ์บ้าง ส่วนเกณฑ์ข้อไหนที่ยังไม่ผ่าน จากนั้นหารือกับทีมงานว่าจะทำอย่างไร จะประสานเครือข่ายใดเข้ามาช่วยเพื่อปรับปรุงให้ผ่านเกณฑ์นั้นๆ ทั้งเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ หรือโรงพยาบาลแม่ข่าย

อภิชาติ ยกตัวอย่างการปรับปรุงโครงสร้างอาคาร ซึ่งโครงสร้างเดิมไม่เอื้อต่อมาตรฐาน เช่น ห้องน้ำต้องผ่านมาตรฐาน HAS แต่ที่ รพ.สต.มียังไม่ผ่านเกณฑ์นี้

“เราก็มาคิดว่าจะผ่านเกณฑ์นี้ได้อย่างไร เราก็คุยกับชุมชนว่าเราไม่ผ่านนะ และได้ข้อสรุปออกมาว่ามาทำผ้าป่าเพื่อหาทุนกัน พอมีทุน เราก็เอามาสร้างตามมาตรฐาน HAS จนที่สุดก็ผ่านในข้อนี้” อภิชาติ กล่าว

เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย ที่เห็นความแตกต่างชัดเจนคืองาน IC การล้างแผล เย็บแผลคนไข้ จากแต่ก่อนที่ต้องนึ่งชุดอุปกรณ์ปราศจากเชื้อ (Set) เอง ล้างแผลเอง ก็ปรับระบบส่งไปแลก set ที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จะนึ่งให้ ก็ทำให้ได้มาตรฐานปราศจากเชื้อ เชื่อถือได้ ส่วนงานแล็บก็ได้รับการสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ เช่น เบาหวาน ผู้ป่วยก็พอใจมากขึ้นที่ไม่ต้องเข้าไปตรวจที่โรงพยาบาล

“เราประสานเครือข่าย ก็คือโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดินเข้ามาช่วยให้ผ่านเกณฑ์ ทีมพี่เลี้ยงจากโรงพยาบาลเข้ามาช่วยว่าเราตกเกณฑ์ข้อนี้นะ พี่เลี้ยงจะเป็นใคร จุดไหน นอกจากนี้ก็ได้รับการสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือและความรู้จากทีมพี่เลี้ยง ซึ่งพี่เลี้ยงจะมีทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ ให้ทั้งงบประมาณ วิชาการความรู้ ที่จะทำให้เราผ่านเกณฑ์ติดดาว” อภิชาต กล่าว

ในส่วนของอัตรากำลังคน อภิชาติ ยอมรับว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอตามกรอบอัตรากำลัง แต่ว่าถูกชดเชยด้วยการสนับสนุนจากเครือข่าย อย่างเช่น งานทันตกรรม รพ.สต.บ้านต้ายไม่มีเจ้าพนักงานทันตกรรม แต่ก็ได้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดินเข้ามาช่วย รวมทั้ง รพ.สต.ข้างเคียงก็ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยงานด้วย

นอกจากนี้ บุคลากรที่มีก็ทำงานได้หลายหน้าที่ นักวิชาการการสามารถทำงานการเงิน แพทย์แผนไทยสามารถทำงานพัสดุ พยาบาลก็มีประสบการณ์ทำงานสูงทดแทนกันได้ ข้อจำกัดเรื่องบุคลากรจึงไม่เป็นปัญหากับในการทำงาน

ขณะเดียวกัน เกณฑ์ประเมิน รพ.สต.ติดดาว 5 ดาว 5 ดี ไม่ได้มีแค่งานใน รพ.สต. แต่ยังมีงานชุมชนด้วย ทาง รพ.สต.จะอาศัยการวิเคราะห์ร่วมกับภาคีเครือข่ายในชุมชนผ่านทางสภาตำบล ซึ่งมีทั้งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านต้าย กำนัน ผู้นำชุมชน กลุ่มชุมชนต่างๆ ที่มาร่วมเป็นเครือข่ายว่า ในชุมชนมีปัญหาสุขภาพเรื่องใด และจะแก้ปัญหาร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างไร

“เราทำงานร่วมกันโดยใช้กระบวนการวิเคราะห์ ส่วนมากเป็นการประชาคมค้นหาปัญหาในชุมชน ก็ทำให้ได้ปัญหาที่มาจากชุมชนจริงๆ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ยัดเยียดให้ เช่น ปัญหาเบาหวาน เราวิเคราะห์ว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร แล้วจะแก้อย่างไร ก็อาศัยภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ถ้าต้องใช้งบประมาณ เราก็มีงบกองทุนสุขภาพตำบลช่วยสนับสนุน มีนวัตกรรมโรงเรียนเบาหวานขึ้นมา มีผู้อำนวยการ มีนักเรียนที่เป็นผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาผู้สูงอายุพึ่งพิง และปัญหาอุบัติเหตุ รวมทั้งการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งก็ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในชุมชนทั้งสิ้น” ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านต้าย กล่าว

อภิชาติ กล่าวต่อว่า ปัญหาอุปสรรคจากกระบวนการทำงาน รพ.สต.ติดดาว จะพบในลักษณะของความไม่มั่นใจมากกว่า เช่น ช่วงแรกที่รับงานมา พอมีคำว่าวิชาการ จะรู้สึกว่าจะไปถูกทางหรือไม่ แต่เมื่อทำเข้าจริงๆ กลับทำให้รู้ว่าช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น เป็นระบบระเบียบ งานประจำบางงานที่ทำซ้ำซ้อนกัน ถ้าเอาเกณฑ์ประเมิน รพ.สต.ติดดาวมาจับ งานจะเป็นระบบมากขึ้น ง่ายต่อการผ่านเกณฑ์

“ในภาพรวม มันทำให้การทำงานของเรามีมาตรฐานมากขึ้น มีการตรวจสอบคุณภาพการทำงาน ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่ดี ลดการไปรับบริการที่โรงพยาบาล มาที่นี่ก็สามารถปรึกษาแม่ข่ายได้ทั้งทางโทรศัพท์ ทางไลน์ จะส่งต่อก็ปรึกษาแม่ข่ายได้ก่อน ทางแม่ข่ายสนับสนุนตลอด ทั้งเครื่องมือ ความรู้ มีการจัดอบรมเป็นประจำ ทำให้เราได้รับความเชื่อมั่นจากชาวบ้าน” ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านต้าย กล่าว

ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของ รพ.สต.

สำหรับบาง รพ.สต.ที่อาจรู้สึกว่า การจะขับเคลื่อนให้ได้มาตรฐาน รพ.สต.ติดดาวเป็นเรื่องยากหากไม่มีงบประมาณสนับสนุน แต่ที่ รพ.สต.บ้านต้าย มองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่

อภิชาติ กล่าวว่า หากต้องใช้งบประมาณที่ได้จัดสรร ก็จะลำบากสำหรับงานที่ต้องใช้งบประมาณสูง นอกจากนี้ยังมีงบที่ใช้จ่ายประจำด้วย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างลูกจ้าง แต่ รพ.สต.บ้านต้าย อาศัยชุมชนเข้ามาช่วย ซึ่งข้อดีของชุมชนนี้คือมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้นหากมีอะไรที่เป็นการพัฒนา รพ.สต. ทางชุมชนจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านต้าย ขยายความว่า วิธีการในการสร้างความรู้สึกให้ชุมชนเป็นเจ้าของ รพ.สต.ร่วมกันนั้น ต้องสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่าสิ่งที่ รพ.สต.กำลังพัฒนาอยู่นี้ ชาวบ้านในพื้นที่จะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป เจ้าหน้าที่ที่อยู่ก็มีวันเกษียณ มีวันย้ายออก แต่ของที่มีอยู่จะอยู่กับชุมชนตลอดไป

“เราฝันว่าอยากให้ รพ.สต.แห่งนี้เป็นของทุกคน ไม่ใช่ของเจ้าหน้าที่ อย่างห้องน้ำมาตรฐาน HAS เราก็ฝันเอา แล้วก็เอาความฝันนั้นไปให้ชาวบ้านว่าผมฝันแบบนี้นะ เราทำเสร็จเราก็มอบกลับไปให้ชุมชนนั่นแหละ ก็บอกเขาไปอย่างนั้น อย่างห้องน้ำ ก็สร้างจากเงินชุมชน โรงเรียน อสม.ก็สร้างจากเงินชุมชน ปูประเบื้องรอบๆ รพ.สต.ก็เงินของชุมชน อุปกรณ์ออกกำลังกายก็เป็นเงินของชุมชน แล้วที่นี่เราเปิดให้ทุกคนมาใช้ประโยชน์ เย็นๆ ก็จะมีชาวบ้านมาออกกำลัง มีผู้สูงอายุมาพบปะพูดคุยกัน เพราะเขารู้สึกว่า รพ.สต.เป็นของชุมชนจริงๆ” อภิชาติ กล่าว

อภิชาติ กล่าวอีกว่า นอกจากการสื่อสารผ่านเวทีสภาตำบลแล้ว การออกเยี่ยมชุมชนเป็นประจำ การเข้าหาชาวบ้านอย่างพี่น้อง เรียกพ่อ เรียกแม่ ลุงป้า น้า อา เรียกหากันอย่างให้เกียรติเหมือนเป็นญาติ ไม่ใช่เป็นเจ้านายกับลูกน้อง ก็ทำให้ได้ใจคน อย่างเช่นเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทย ได้จับได้นวดผู้เฒ่าผู้แก่ ชาวบ้านก็จะรักและเอาของฝากเล็กๆ น้อยๆ มาให้เสมอจนเป็นที่อิจฉาของพี่ๆ (หัวเราะ)

ความสุขจากการทำงาน

อภิชาติ กล่าวต่อไปว่า  ปัจจัยความสำเร็จของ รพ.สต.บ้านต้าย คือมีภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความสุขในการทำงาน พร้อมที่จะรับการพัฒนา ทำให้การปฏิบัติงานเต็มที่กับงาน ผู้ป่วยพอใจ ชุมชนพอใจ เมื่อชุมชนพอใจ รพ.สต.ก็ได้รับความร่วมมือ งานต่างๆ จึงดำเนินการได้สำเร็จ

“คือการทำงานเรา ภาระงานก็เหมือนเดิม เพียงแต่พอมีติดดาวเข้ามาก็ทำให้เราเพิ่มศักยภาพความรู้ต่างๆ ตามเกณฑ์ ก็ทำให้เรามั่นใจในการทำงานมากขึ้น และไม่รู้สึกว่าเป็นภาระเลย ผมคิดว่าถ้าเราทำงานใดๆ แล้วประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์ที่ดีกลับมา นั่นแหละคือความสุข เรามีความสุขทั้งในหน่วยงานกันเองและในชุมชน ในหน่วยงาน เราทำงานแบบพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกันเอง มีเจ้านาย (สสอ.) ที่สนับสนุน เวลาทำดีมีรางวัล อาจจะไม่ได้เป็นเงิน เช่น พาไปเลี้ยงข้าว เสาร์อาทิตย์จัดกิจกรรมร่วมกัน ฯลฯ ที่เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ใช้งบราชการ ส่วนความสุขในชุมชนคือรอยยิ้มของคนไข้ เวลาเขาเดินมาหาเรา เขายิ้มให้เรา นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกว่าเขาเห็นเราเหมือนเป็นญาติ มีการพูดคุยหยอกล้อ ไม่ได้เป็นเจ้านายลูกน้อง เวลาเขาถือของฝากมาให้เรา ถ้าคนไม่รักกันเขาไม่เอามาให้นะ ก็แสดงว่าเขาเกิดความรักต่อเรา เขาถึงเอามาฝาก อันนั้นก็คือความสุขที่เราได้รับ” ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านต้าย กล่าว

ให้ “ความจริงใจ” ได้ “ใจ” ตอบแทน

ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านต้าย กล่าวอีกว่า สำหรับข้อแนะนำสำหรับ รพ.สต.อื่นๆ ที่กำลังขับเคลื่อนพัฒนาตามเกณฑ์ประเมิน รพ.สต.ติดดาว 5 ดาว 5 ดีนั้น อย่างแรกคงต้องวิเคราะห์ตัวเองก่อนว่างานที่ทำเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานเหมือนหรือต่างกัน ถ้าไม่ได้ตามเกณฑ์ จะมีใครมาช่วยทำให้ผ่านเกณฑ์นั้น ต้องหาภาคีเครือข่าย อาจจะเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย รพ.สต.ใกล้เคียง องค์กรในชุมชน โรงเรียน วัด เทศบาลท้องถิ่น มาวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน

นอกจากนี้ ต้องวิเคราะห์ว่าบริบทในพื้นที่เป็นอย่างไร เครือข่ายในชุมชนเป็นอย่างไร วิถีชีวิตคนพื้นที่เป็นอย่างไร จากนั้นจึงค่อยวิเคราะห์ว่าเข้าหาแบบไหน อย่างของ รพ.สต.บ้านต้าย มีสภาสุขภาพระดับตำบล ซึ่งก็เป็นกลยุทธ์หนึ่ง ในการรวบรวมเครือข่ายตั้งแต่ระดับ CUP ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.ฯลฯ ได้มามีส่วนร่วมแก้ปัญหา

“ถ้าเป็นพื้นที่อื่น ก็คงต้องดูผู้บริหารด้วยว่าเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ไหม ถ้าผู้บริหารเห็นดี ก็จะเหมือนที่นี่ เรามีสภาสุขภาพตำบล มีทั้งนายอำเภอ สสอ. เกษตรอำเภอ ที่เป็นภาคส่วนอำเภอ ผอ.รพ.สต.ทุกที่ นายก อบต. นายกเทศมนตรีมาเป็นคณะกรรมการ พูดง่ายๆ คือหัวต้องเห็นด้วย”

ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านต้าย กล่าวทิ้งท้ายว่า การจะแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายนั้น ต้องให้ความจริงใจต่อกันก่อน และต้องทำให้กลุ่มภาคีเครือข่ายเป้าหมายรู้สึกว่างานที่กำลังทำ เป็นงานของเครือข่ายนั้นๆ ด้วย หากร่วมมือกับ รพ.สต.แล้ว จะได้ประโยชน์กลับคืน

“การจะเอาหน่วยงานไหนมาทำงานกับเรา เราต้องให้ความจริงใจกับเขาก่อน ว่าเราอยากทำจริงๆ นะ หน่วยงานนั้นเห็นด้วยกับเราไหม ไปคุยก่อนว่ามันเป็นปัญหาร่วมกันไหม ถ้าทำได้เขาจะได้รับประโยชน์ ก็ชวนคุยไปแบบนั้น ถ้าเราจริงใจกับเขาแล้ว เราจะได้ความร่วมมือที่ดีกลับมา ไม่ใช่ไปสั่งให้เขาทำตามเรา” อภิชาติ กล่าว