ปธ.องคมนตรี ติดตามงาน รพ.สมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จ.สกลนคร ติดตามการพัฒนางานสำคัญของโรงพยาบาล ทั้งกิจกรรมสนองพระบรมราโชบาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ และการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวง พร้อมมอบถุงของขวัญพระราชทานให้กับผู้ป่วย และให้กำลังใจบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมด้วย นายแพทย์ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 8 คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของโรงพยาบาล มอบประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมมอบถุงของขวัญพระราชทานให้กับผู้ป่วยและให้กำลังใจบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน
 
นายแพทย์ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน เป็นโรงพยาบาลขนาด 301 เตียง ดำเนินกิจกรรมสนองพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์อย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดโครงการออมขวัญ ปันสุข มอบชุดของขวัญอัจฉริยะและมอบขวัญถุงพระราชทานให้กับทารกที่เกิด ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน คนละ 1,000 บาท รวม 93 คน คัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส และทำการผ่าตัดเต้านม 20 ราย ถวายการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และผู้นำทางศาสนา ตรวจ X-ray ทรวงอกพระภิกษุ 242 รูป พบความผิดปกติ 26 รูป

และมอบตู้ยาสามัญ/ตู้ยา ฉุกเฉินประจำวัด 111 วัด ตลอดจนปรับปรุงและซ่อมแซมบ้านให้ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ด้อยโอกาส รวม 15 หลัง ปรับปรุงห้องผู้ป่วยฟอกไตหน้าท้อง 10 หลัง และจัดระบบบริการสุขภาพผู้ต้องขัง ในโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ดูแลทั้งด้านส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสมรรถภาพ อีกทั้งเตรียมเปิดศูนย์ไตเทียมขนาด 30 เตียงด้วย

นายแพทย์ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลยังมีการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และพัฒนาคุณภาพบริการ สู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบ (Smart hospital) และขับเคลื่อนนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ อาทิ การใช้ระบบ IPD paperless ที่แผนกกุมารเวชกรรม ช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษและผู้ป่วยรับบริการได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น, มีระบบคืนข้อมูลสุขภาพผ่านทางโทรศัพท์ แปลผลภาพถ่ายรังสีทรวงอกด้วยปัญญาประดิษฐ์และส่งต่อภาพถ่ายรังสีภายในจังหวัดสกลนคร ด้วยระบบ cloud,   การผ่าตัดนิ่วในท่อน้ำดีและนิ่วในถุงน้ำดีผ่านทางกล้อง เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังดูแลผู้ป่วยเชิงรุก โดยเปิดศูนย์รับตรวจเจาะน้ำคร่ำในหญิงตั้งครรภ์เสี่ยง, ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลและ HbA1c ได้ดี ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน, ส่งเสริมให้ชุมชนร่วมดูแลผู้สูงอายุ อีกทั้งได้ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณบ้านพักและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ทำให้สามารถลดค่าไฟฟ้าได้มากกว่า 120,000-140,000 บาท ต่อเดือน