เว็บไซต์ไทยรัฐ : บทความนี้เขียนโดยเพื่อนของหมอ Professor Robert E. Dedmon จากภาควิชาสุขภาพประชากร วิทยาลัยแพทยศาสตร์ Wisconsin เมือง Milwaukee ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เรามาดูสภาพปัจจุบันครับ ว่าดีขึ้นหรือเลวลง (ผู้แปลจิตสุภาตรี ทิพย์สถิตย์)
ตอนที่ 1
ปัจจุบันทั่วโลกกำลังตกอยู่ในภาวะขาดแคลนแพทย์ผู้ปฏิบัติงานเวชปฏิบัติในระดับการสาธารณสุขปฐมภูมิ (primary care) และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ผู้ปฏิบัติงานเวชปฏิบัติในระดับการสาธารณสุขปฐมภูมิยังถูกซ้ำเติมให้รุนแรงยิ่งขึ้นจากพิษวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก สำหรับปัญหาการขาดแคลนแพทย์ผู้ปฏิบัติงานเวชปฏิบัติในระดับการสาธารณสุขปฐมภูมิของประเทศไทยนั้นสืบเนื่องมาจากสาเหตุหลัก 3 ประการ ได้แก่
(1) การเรียนการสอนในหลักสูตรเวชศาสตร์ครอบครัว (family practice board) ของประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร
(2) หลักสูตรเวชศาสตร์ครอบครัว (family practice board) ในปัจจุบันไม่สามารถผลิตแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการได้
(3) ภาวะสมองไหล (brain drain) สู่การสาธารณสุขภาคเอกชน เนื่องจากรายได้และสวัสดิการที่ดีกว่า ประกอบกับความพยายามของภาคเอกชนในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของธุรกิจ Medical tourism
จากมุมมองหนึ่งของการสาธารณสุขปฐมภูมิ ประเทศไทยเปรียบเสมือนประเทศกำลังพัฒนา (developing/transitional country) ซึ่งมีรากฐานของการสาธารณสุขเป็นแบบทุติยภูมิหรือตติยภูมิ ซึ่งอาศัยโรงพยาบาลขนาดใหญ่และแพทย์ระดับผู้เชี่ยวชาญเป็นตัวขับเคลื่อน
อย่างไรก็ตามก็ยังมีความพยายามในการแสวงหาแนวทางเพื่อปรับปรุงคุณภาพ (quality) รวมถึงประสิทธิผล (cost-effectiveness) ในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในประเทศของตน
จุดประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้เป็นไปเพื่อเสาะหาแนวทางและศักยภาพในการเพิ่มจำนวนแพทย์ผู้ปฏิบัติงานด้านเวชปฏิบัติในระดับการสาธารณสุขปฐมภูมิในประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยใหม่ๆ ซึ่งมีคำถามงานวิจัยบนพื้นฐานของประเด็นการขาดแคลนแพทย์เวชปฏิบัติระดับการสาธารณสุขปฐมภูมิ วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่รุมเร้า และวัฒนธรรมทางการแพทย์ของประเทศไทย
การศึกษาในครั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการสืบค้นข้อมูลด้วยคำสำคัญ “Primary care Thailand” จาก (1) วารสารทางการแพทย์ทั้งที่ตีพิมพ์เฉพาะในประเทศไทยและวารสารทางการแพทย์นานาชาติ (2) เว็บไซต์ Google Scholar (3) เว็บไซต์ PubMed โดยอาศัย Medical Subject Heading (MeSH) ว่า “Primary care” และ “Thailand”
นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้ทำการสัมภาษณ์แพทย์และเจ้าหน้าที่ด้านงานบริการในกรุงเทพมหานครซึ่งมาจากหลายภาคส่วน ได้แก่ สถานพยาบาลทั่วไปในภาคเอกชน (private general-travel medicine practice), ศูนย์การศึกษาทางการแพทย์ (academic medical center) 1 แห่ง, หน่วยงานซึ่งปฏิบัติงานโดยไม่หวังผลกำไร (nonprofit facilities) 2 แห่ง และสถาบันทางการแพทย์ซึ่งมีผู้ประกอบการเป็นเจ้าของ (investor-owned institutions) 4 แห่ง การทบทวนวรรณกรรมในครั้งนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2552 และการสัมภาษณ์ทั้งหมดในครั้งนี้เป็นไปในลักษณะตัวต่อตัว (in person) ซึ่งดำเนินการระหว่างผู้วิจัยมาเยือนกรุงเทพมหานครในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.2552
ผลการศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการบริการทางการแพทย์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยหรืออย่างน้อยในกรุงเทพมหานครยังคงเป็นแบบทุติยภูมิหรือตติยภูมิ ซึ่งขับเคลื่อนโดยโรงพยาบาลขนาดใหญ่และแพทย์ระดับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแนวทางการปฏิบัติดังกล่าวสวนทางกับความสนใจในการพัฒนาการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
อย่างไรก็ตามยังมีสถานพยาบาลเอกชนขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่สามารถสวนกระแสของการบริการด้านสาธารณสุขส่วนใหญ่ของประเทศได้สำเร็จ
นอกจากนี้โรงพยาบาลขนาดใหญ่บางแห่งซึ่งมีชื่อเสียงด้าน medical tourism ได้ริเริ่มก่อตั้งแผนกต่างๆ สำหรับผู้ป่วยชาวไทย แนวโน้มเช่นนี้เองที่อาจมีส่วนช่วยส่งเสริมให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเข้าสู่สาขาเวชศาสตร์ทั่วไป (general internal medicine) มากขึ้นในอนาคต
โดยสรุปแล้วอนาคตของการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิในประเทศไทยยังคงมีความเคลือบแคลงอีกมากมาย และอาจต้องการนโยบายทางการเมืองที่แน่ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางรากฐานที่มั่นคงและชัดเจนให้กับการแพทย์สาขา “เวชศาสตร์ครอบครัว”
นอกจากนี้การวิจัยเกี่ยวกับความต้องการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประชาชนทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาการสาธารณสุขของชาติต่อไป.
ผู้เขียน : หมอดื้อ (ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา)
ที่มา: http://www.thairath.co.th
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
อนาคตการสาธารณสุขปฐมภูมิในประเทศไทย ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก ตอนที่ 2
- 57 views