กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จับมือ อย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และแพทยสภา จัดทำร่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัด พ.ศ. ...ควบคุมมาตรฐานการใช้เซลล์จากมนุษย์ หรือสัตว์หรือพืช เพื่อบำบัดรักษาโรค งานทันตกรรม  การเสริมความงาม ทั้งสถานพยาบาลที่ให้บริการ ผู้ประกอบวิชาชีพ  ห้องปฏิบัติการ และธนาคารเซลล์ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค กำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน จำคุกหัวโต ปรับหนัก ป้องกันการใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง  เสนอครม.พิจารณา มิถุนายนนี้

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อใช้ควบคุมการให้บริการที่ใช้เซลล์เพื่อการบำบัดรักษาโรคหรือใช้ในวงการความงาม การบำรุงร่างกาย ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ว่า จากการประชุมพิจารณาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ นายกแพทยสภา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานอื่นๆ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการรวมร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์ทางการแพทย์ พ.ศ. ...ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และร่างพระราชบัญญัติเซลล์บำบัด พ.ศ. ...ของแพทยสภา เนื่องจากมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงสอดคล้องกัน โดยให้ใช้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัด พ.ศ. ....” 

ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้บูรณาการอำนาจของหน่วยงานด้านสุขภาพ ที่ทำหน้าที่ควบคุมกำกับมาตรฐานความปลอดภัย 4 หน่วยงานไว้ด้วยกัน ได้แก่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และแพทยสภา มีทั้งหมด 8 หมวด และบทเฉพาะกาล รวม 59 มาตรา ครอบคลุมการให้บริการ และการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเซลล์บำบัดทุกรูปแบบ

“ปัจจุบันมีการนำสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด และผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์ มาใช้เพื่อการบำบัด บรรเทา รักษาโรค หรือความเจ็บป่วยอย่างแพร่หลายทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้เซลล์บำบัดเป็นการเฉพาะ มีเพียงข้อบังคับของแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเรื่องการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษา ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา ครอบคลุมเฉพาะแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่นการเก็บรักษาเซลล์ ห้องปฏิบัติการ สบส.จึงต้องเร่ง ผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัด พ.ศ. ....” เป็นการเฉพาะ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เป็นเครื่องมือควบคุมมาตรฐานของการใช้เซลล์บำบัด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค รวมทั้งเพื่อส่งเสริมพัฒนาการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเซลล์บำบัดอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์คนไทย จะได้รับบริการจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย  ทั้งการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค งานทันตกรรม รวมทั้งการบำรุงร่างกายและเสริมความงาม  ป้องกันมิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ขณะนี้ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในเดือนมิถุนายน 2559” อธิบดี สบส. กล่าว     

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สาระสำคัญของ “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัด พ.ศ. ....” นั้น ครอบคลุมการให้บริการ 4 ประเภท คือ

1.การใช้เซลล์เพื่อการบำบัดรักษา  

2.ห้องปฏิบัติการเซลล์สำหรับใช้เตรียมเซลล์ ซึ่งรวมถึงการใช้หุ่นยนต์เตรียมเซลล์ด้วย  

3.สถานที่จัดเก็บ รับฝากเซลล์มนุษย์ที่มีชีวิต หรือธนาคารเซลล์ เพื่อใช้บำบัดหรือทำเป็นผลิตภัณฑ์เซลล์   

และ 4.กระบวนการอื่นๆตามที่คณะกรรมการประกาศ กำหนดให้ให้กระทำโดยแพทย์ หรือทันตแพทย์เท่านั้นและดำเนินการในสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลพ.ศ. 2541 และต้องขึ้นทะเบียนต่ออายุทุก 5 ปี   

นอกจากนี้ ได้กำหนดข้อห้ามอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดอันตรายต่อประชาชน อาทิ ห้ามบุคคลที่มิใช่แพทย์หรือทันตแพทย์ให้บริการเกี่ยวกับเซลล์บำบัด ห้ามโฆษณาหรือประกาศ โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริง ห้ามมีนายหน้า เรียกรับผลประโยชน์ในการชี้ช่องทางการให้บริการ หากผู้ขึ้นทะเบียนหรือผู้ดำเนินการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้จะถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียน และกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน  มีตั้งแต่จำคุกตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 10 ปี  ปรับตั้งแต่ 2,000 บาท จนถึง 3,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ