ครม.เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน มุ่งขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เน้นตอบสนองความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนในแต่ละเขตพื้นที่ เตรียมตั้ง 13 เขตทั่วประเทศ มั่นใจเป็นมิติใหม่ที่ช่วยหนุนเสริมการทำงานทุกภาคส่วน ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (26 เม.ย.59) ได้มีมติเห็นชอบ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ.... ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นำเสนอแล้ว โดยเขตสุขภาพเพื่อประชาชนจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในระดับพื้นที่ มุ่งตอบสนองสุขภาวะของประชาชน ครอบครัว และชุมชน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ให้ร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพ และร่วมกันขับเคลื่อนจัดการสุขภาพในทุกมิติอย่างครบวงจร และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
“เขตสุขภาพเพื่อประชาชน เป็นแนวทางการการทำงานรูปแบบใหม่ที่เป็นไปตามทิศทางพัฒนาการของระบบสุขภาพในยุคปัจจุบัน ที่มีหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ หรือที่เรียกว่าพหุลักษณ์ จึงต้องอาศัยการอภิบาลแบบเครือข่ายที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และวิชาการ เข้ามาทำงานร่วมกันแบบหุ้นส่วน โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน และเน้นความต้องการของประชาชนในแต่ละเขตสุขภาพเป็นสำคัญ”
การจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ.... เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานพัฒนารูปแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ทำหน้าที่จัดทำร่างรูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ไปพร้อมกับยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ. .... โดยผ่านเวทีรับฟังความเห็นจากภาคีภาคส่วนต่างๆ หลายครั้ง รวมถึงในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้ว หลังจากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว จะได้มอบให้คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา ร่างระเบียบสำนักนายกฯ ต่อไป ก่อนจะนำเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งเพื่อประกาศใช้
ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะเร่งเตรียมแผนเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อเดินหน้าเตรียมการจัดตั้งเขตสุขภาพประชาชนทั้ง 13 เขตทั่วประเทศให้ดำเนินการได้ทันทีเมื่อระเบียบสำนักนายกฯ มีผลบังคับใช้ ปัจจุบัน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้เริ่มเตรียมความพร้อมโดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (ชั่วคราว) และเริ่มต้นการหารือกระบวนการสรรหาคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนในพื้นที่เขต 2 (ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์) ไปบ้างแล้ว
ทั้งนี้ การแบ่งพื้นที่ทั่วประเทศเป็น 12 เขตรวมกับกรุงเทพมหานครอีก 1 เขตนั้น สอดคล้องกับการแบ่งพื้นที่การทำงานของภาคีหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจะหนุนเสริมกันไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขจะมุ่งเน้นด้านบริการสุขภาพ และกระทรวงสาธารณสุขเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อให้สอดคล้องกับเขตสุขภาพเพื่อประชาชนด้วย ขณะที่เขตสุขภาพของ สปสช. เน้นการจัดการด้านการเงินการคลังเป็นหลัก ส่วนเขตสุขภาพเพื่อประชาชนจะเป็นกลไกหนุนเสริมให้เกิดกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนที่มีบทบาทในระบบสุขภาพมีความรับผิดชอบร่วมกัน
ทั้งนี้ เนื่องจากเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เป็นแนวทางการดำเนินงานรูปแบบใหม่ ในร่างระเบียบสำนักนายกฯ จึงกำหนดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานอย่างน้อยทุก 2 ปี และต้องนำเสนอผลการประเมินต่อ ครม. พร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม :
การบริหารงานของ เขตสุขภาพเพื่อประชาชนในแต่ละเขต กำกับดูแลโดย คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเครือข่ายหรือองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรด้านต่างๆ เช่น ด้านสตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน คุ้มครองผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้แทนสื่อมวลชน สถานพยาบาล ร้านขายยา หอการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้แทนสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ชาวบ้าน โดยมีหลักการสำคัญคือต้องเป็นผู้แทนของภาคีที่ปฏิบัติในงานเขตพื้นที่นั้นๆ ในเขต 13 กรุงเทพมหานครจะมีความแตกต่างขององค์ประกอบกรรมการเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่
อำนาจหน้าที่ของ กขป. ประกอบด้วย
1. สนับสนุนการจัดการความรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วม ศึกษาศักยภาพและทุนทางสังคมด้านสุขภาพของพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนการประเมินสถานะสุขภาพ และการดำเนินงานของเขตพื้นที่
2. กำหนดทิศทางการพัฒนา ยุทธศาสตร์ นโยบายสาธารณะ
3. ประสาน บูรณาการแผนของภาคีในพื้นที่ และภาคีนอกพื้นที่
4. สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมการพัฒนาความร่วมมือ ผ่านเครื่องมือและกลไกใหม่ๆ
5. ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสุขภาพต่อหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
6. สื่อสารกับสังคมในเรื่องการดำเนินงานต่างๆ ของเขตพื้นที่
และ 7. แต่งตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับปัญหาหรือบริบทของพื้นที่
นอกจากนี้ เพื่อให้การบริหารงาน มีความคล่องตัว และเป็นไปตามเป้าหมาย จึงกำหนดให้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แต่งตั้ง คณะกรรมการสนับสนุนเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กสขป.) ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนไม่แสวงหากำไร และเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ต่อไปนี้คือ
1. สรรหาคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน
2. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. ให้คำแนะนำปรึกษา ข้อเสนอแนะ และสนับสนุนการพัฒนาระบบงานของเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และงานที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานอื่นๆ
4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อพิจารณาหรือดำเนินงานตามที่ กสขป.มอบหมาย
และ 5. ปฏิบัติการอื่นตามที่ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
- 11 views