เวทีสัมมนาหลักการแพทย์กรณีคดีน้องหมิว เห็นร่วม คดีทางการแพทย์ไม่พิจารณาอย่างคดีผู้บริโภค และไม่ใช่คดีอาญา เสนอการพิจารณาคดีทางการแพทยควรมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ในศาล และพยานก็ต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคนั้นด้วย จี้ สธ.แก้ปัญหาบุคลกรการแพทย์มีน้อย ไม่เพียงพอกับการให้บริการทำให้มีเวลาดูผู้ป่วยน้อยลง
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) กล่าวในการสัมมนาหลักกฎหมายการแพทย์ เรื่อง “กรณีศึกษาคดีแพทย์รักษาน้องหมิว" ซึ่งจัดโดย สผพท. สมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย และกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากบริการทางการแพทย์ หากจะมองว่าความผิดเกิดจากส่วนใดได้บ้างนั้น มี 3 ส่วนคือ
1.พ่อแม่ ที่ไม่ดูแลสุขภาพลูกและตัวเอง เมื่อไปโรงพยาบาลแล้วไม่บอกประวัติให้ละเอียด ตรงนี้พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ
2.ระบบบริการสาธารณสุขที่ไม่มีความพร้อม เช่น บุคลากรทางการแพทย์มีน้อย ไม่เพียงพอ ตรงนี้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องรับผิดชอบ ต้องแก้ระบบให้ได้ รวมถึงต้องกระตุ้นให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเอง สามารถดูแลยามเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ และรู้ว่าเจ็บป่วยระดับใดแล้วถึงมาพบแพทย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า รพ.รัฐคนไข้ล้นมาก ทำให้แพทย์มีเวลาพูดคุยอธิบายกับผู้ป่วยน้อย ขณะที่ รพ.เอกชนนั้นแพทย์มีเวลาอธิบายมากกว่า การฟ้องร้องความเสียหายทางการแพทย์จึงน้อยกว่า
และ 3.บุคลากรทางการแพทย์ กระทำโดยประมาทหรือไม่ ผิดมาตรฐานหรือไม่ ตรงนี้จะมีสภาวิชาชีพในการกำกับดูแล
"ไม่มีใครอยากเกิดข้อพิพาทเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มองว่าการพิจารณาคดีทางการแพทย์นั้น ควรมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศาล นอกจากนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า บุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีจำกัด จึงจำเป็นต้องมีการปรับกฎระเบียบการรับบริการทางการแพทย์ โดยหากประชาชนเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องมาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่หากเจ็บป่วยมากจึงมาได้ตามสิทธิ ซึ่งหากใครไม่ปฏิบัติก็สามารถไปรักษาที่ รพ.เอกชน เสียค่ารักษาพยาบาลเอง เป็นต้น ซึ่งในต่างประเทศมีการดำเนินการลักษณะนี้อยู่" พญ.เชิดชู กล่าว
ด้าน รศ.พล.ต.หญิง พญ.ฤดีวิไล สามโกเศศ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า กล่าวว่า กรณีแพทย์ที่ทำการรักษาน้องหมิว ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ต่างให้ความเห็นว่าได้ทำการรักษาถูกต้องตามมาตรฐานแล้ว การที่ผู้ป่วยมาด้วยอาการปอดอักเสบนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ไมโครพลาสมา และวัณโรค การรักษาด้วยการให้ยาต้านแบคทีเรียก่อนนั้นถือว่าถูกต้อง เพราะเชื้อแบคทีเรียแบ่งตัวเร็ว และอาจทำให้เสียชีวิตเร็ว ซึ่งหากรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นจึงค่อยมาพิจารณาถึงสาเหตุอื่น อย่างวัณโรคซึ่งมีการแบ่งตัวของเชื้อช้ากว่า และการให้ยานั้นก็มีอันตราย จึงเห็นด้วยที่การพิจารณาคดีทางการแพทยนั้นควรมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ในศาล และพยานก็ต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคนั้นด้วย นอกจากนี้ การพิจารณาคดีทางการแพทย์ไม่สมควรอยู่ในคดีผู้บริโภค และไม่ใช่คดีอาญา
ศ.อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คดีทางการแพทย์นั้นไม่ควรนำมาพิจารณาอย่างคดีผู้บริโภค เพราะแพทย์เป็นวิชาชีพที่มีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลด้านจริยธรรม จรรยาบรรณอยู่แล้ว การใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีจึงต้องใช้บุคคลที่มีความรู้ทางการแพทย์ที่เป็นกลาง ไม่ใช่บุคคลธรรมดา ซึ่งประเทศไทยหลายครั้งก็ยังไม่เป็นไปตามแนวทางนี้ ส่วนกรณีน้องหมิวนั้น ตนไม่แน่ใจว่าเพราะอะไรถึงใช้วิธีการพิจารณาอย่างคดีผู้บริโภค เพราะหากพิจารณาแนบท้ายของกฎหมายไม่ได้ระบุแนบท้ายว่าครอบคลุมวิชาชีพ แต่เป็นเรื่องการบริการและสินค้า
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหามีหลายปัจจัย การแก้ไขก็ต้องทำอย่างเป็นระบบ อย่างเรื่องระบบการดูแลความปลอดภัยของผู้ป่วย มีการวางระบบประเมิน ซึ่งมีทุก รพ. ขณะเดียวกันใน รพ.แต่ละแห่งจะมีศูนย์ไกล่เกลี่ยกรณีเหล่านี้ และล่าสุดส่วนกลางกำลังจัดระบบผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เพื่อให้คำแนะนำแพทย์ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการ แต่ขณะนี้จะทำให้เป็นภาพรวมมากยิ่งขึ้น
- 71 views