กระทรวงสาธารณสุข เผยแนวโน้มโรคไข้เลือดออกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในชุมชนเขตเมือง กรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศ รวม 2,730 คน ขณะที่ต่างจังหวัดแนวโน้มผู้ป่วยเริ่มลดลง ขอความร่วมมือกำจัดยุงในบ้านและรอบบ้านตนเอง ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคต่อเนื่องทุก 7 วัน เข้มข้นในช่วงนี้จนถึงก่อนจะเข้าฤดูฝน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในปีนี้ให้มากที่สุด
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในขณะนี้ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่ใช่อยู่ในช่วงฤดูการระบาด สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสภาวะโลกร้อน ที่ทำให้ลูกน้ำยุงเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้เร็ว ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559-15 มีนาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 11,616 คน สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ที่พบ 5,971 คน เสียชีวิต 4 คน โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคกลาง 5,928 คน รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,492 คน ภาคใต้ 1,861 คน ภาคเหนือ 1,335 คน
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าชุมชนเขตเมืองยังมีอัตราป่วยสูง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศ รวม 2,730 คน ขณะที่ต่างจังหวัดแนวโน้มผู้ป่วยเริ่มลดลง จากความร่วมมือของประชาชน ชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคในลักษณะประชารัฐอย่างเข้มข้น ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน รอบบริเวณบ้าน และชุมชนของตนเอง ไม่ให้มีภาชนะขังน้ำที่มีลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะ เศษอาหารไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เก็บน้ำปิดฝาภาชนะให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคที่มาจากยุงลาย 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขช่วยกระตุ้นประชาชนในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และสำรวจลูกน้ำยุงลาย ตลอดฤดูร้อนไปจนถึงกลางเดือนเมษายนก่อนจะเข้าฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงโอกาสทองในการควบคุมป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการควบคุมป้องกันโรคที่เข้มข้น คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในปี 2559 ประมาณ 160,000 – 170,000คน
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก เป็นได้ในทุกกลุ่มอายุ พบมากในช่วงอายุ 5-24 ปี อาการส่วนใหญ่มักจะมีไข้สูง ไข้ไม่ลด ปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา อาจมีอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้องร่วมด้วย ต้องสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ รักษาตามอาการ ให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อยๆ เช็ดตัวช่วยลดไข้เป็นระยะๆ ให้กินอาหารอ่อน กินยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น ห้ามกินยาแอสไพรินหรือไอบรูโปรเฟน เพราะเสี่ยงเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร และติดตามเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด ประคับประคองให้ผู้ป่วยผ่านระยะช็อกหลังไข้ลด ซึ่งเป็นระยะวิกฤตของโรค หากผู้ป่วยฟื้นไข้สดชื่นขึ้นแสดงว่าจะหายเป็นปกติ แต่หากเข้าสู่ภาวะช็อก อาจมีอาการต่อไปนี้ เช่น ซึม อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบา เร็ว ปวดท้องกะทันหัน กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยลง มีเลือดกําเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดํา ให้ผู้ป่วยรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันการเสียชีวิต
สำหรับวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยขอให้ระวังยุงลายที่ชอบอาศัยอยู่ในบ้าน ตามกองเสื้อผ้า ผ้าม่าน หรือในมุมมืดมุมอับในบ้าน ขอให้จัดบ้านบริเวณรอบบ้านให้โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่อยู่ในบริเวณที่อับลมหรือมุมมืด มีแสงสว่างน้อย นอนกางมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด หมั่นอาบน้ำให้ร่างกายสะอาด เพราะกลิ่นเหงื่อไคลจะดึงดูดยุงให้เข้ากัดมากขึ้น และใช้ยาทากันยุง ผลิตภัณฑ์ตะไคร้หอมกันยุงซึ่งปลอดภัย ไม่มีสารเคมี
- 8 views