นสพ.สยามธุรกิจ : 1 เมษายน เหยื่อรถชนได้เฮ! รัฐแจกของขวัญปีใหม่ไทยเพิ่มคุ้มครอง พ.ร.บ.ค่ารักษาเป็น 8 หมื่น ตาย-พิการ 3 แสน "สุทธิพล" ย้ำคลุมทุกกรมธรรม์ทั้งที่ซื้อไปก่อนหน้าและที่จะซื้อใหม่หลังจากนี้ แนะค่ายประกันมองวิกฤติเป็นโอกาสเรียกความเชื่อมั่น ถ้าอุบัติเหตุลด สินไหมลด แถมเพิ่มความคุ้มครองจูงใจรถเลี่ยงประกันเข้าระบบ นายกวินาศภัยแจงค่ายประกันรับสภาพได้ แม้สินไหมพุ่งอย่างต่ำปีละพันล้าน เชื่อเฟสสองขึ้นเบี้ย จยย.100 บาทแน่ ชงลดเงินสมทบ บริษัทกลางฯ ช่วยพยุง จับตา! สงครามแข่งจ่ายคอมมิสชั่นซา

ในที่สุด การปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือประกันภัยรถภาคบังคับรอบใหม่ล่าสุดก็ได้ข้อสรุปจะเพิ่มความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจาก 50,000 บาท เป็น 80,000 บาท กรณีเสียชีวิตจาก 200,000 บาท เป็น 300,000 บาท โดยไม่ปรับเบี้ยประกันภัยรถจักรยานยนต์ที่เคยเสนอขอขึ้นอีกคันละ 100 บาท ซึ่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ (บอร์ด คปภ.) อนุมัติหลักการนี้แล้ว ในเบื้องต้นทาง คปภ.ต้องการจะให้ความคุ้มครองใหม่นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 นี้เป็นต้นไป เพื่อให้เป็นของขวัญปีใหม่ไทยกับประชาชน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.เปิดเผย "สยามธุรกิจ" ว่า ในการประชุมกับผู้บริหารบริษัทประกันวินาศภัยทุกแห่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมานั้น ได้แจ้งให้ทราบถึงคำสั่งนายทะเบียนเรื่องวงเงินความคุ้มครองใหม่ของประกันภัย พ.ร.บ. จะให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน กรมธรรม์ประกันภัยที่ซื้อไปก่อนหน้านี้และความคุ้มครองยังไม่สิ้นสุดจะขอความร่วมมือให้บริษัทประกันภัยปรับวงเงินความคุ้มครองให้เป็นไปตามความคุ้มครองใหม่ด้วย

"เป็นลักษณะขอความร่วมมือกับทุกบริษัท เพราะหากไม่ปรับความคุ้มครองในกรมธรรม์เก่า ก็เป็นไปได้ที่ผู้เอาประกันอาจจะยกเลิกกรมธรรม์และไปทำกับบริษัทใหม่ก็ได้ก็อาจจะเสียลูกค้า การเพิ่มความคุ้มครองโดยไม่เพิ่มเบี้ยอาจจะทำให้บริษัทแบกภาระเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นโอกาสที่จะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาเพราะเป็นการทำเพื่อประชาชน ในทางกลับกันหากมีการรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้นจะทำให้สินไหมลดลงได้ อีกทั้งคนที่เลี่ยงทำประกันพอเห็นความคุ้มครองเพิ่มขึ้นแต่ไม่ต้องจ่ายเบี้ยเพิ่มขึ้นอาจจะหันกลับมาทำประกันทำ ให้จำนวนกรมธรรม์เพิ่มขึ้น เบี้ยก็เพิ่มขึ้นด้วย"

ด้าน นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า การเพิ่มความคุ้มครองคงต้องให้คลุมทุกกรมธรรม์เพราะคนที่ได้ประโยชน์คือผู้บริโภคทุกคน โดยในส่วนของธุรกิจประกันวินาศภัยต้องแบกรับรายจ่ายจากค่าสินไหมทดแทนประกันภัย พ.ร.บ.ที่เพิ่มขึ้น เบื้องต้นประเมินไว้ที่ประมาณ 10% หรือ 1,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งสาเหตุที่ไม่ปรับเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเพราะทางเลขาธิการมองว่าช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี ไม่อยากให้เป็นภาระกับผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งเห็นว่าควรจะขยับค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยการเสียชีวิตให้เพิ่มขึ้นให้สอดรับกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งตามแผนเดิมที่จะให้เพิ่มความคุ้มครองไปถึง 500,000 บาทเลยก็แรงไป ยิ่งไม่ให้ขึ้นเบี้ยด้วยแล้วยิ่งหนัก ต้องให้ธุรกิจประกันภัยมีเวลาปรับตัวระยะหนึ่ง

"การปรับปรุงประกันภัย พ.ร.บ จะทำเป็นเฟสๆ โดยเฟสแรกคือ การเพิ่มความคุ้มครองครั้งล่าสุดนี้ เฟสที่สองจะเป็นการปรับเบี้ยรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นอีกคันละ 100 บาท ตามที่ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้บนเงื่อนไขที่จะเพิ่มความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรเป็น 500,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลเป็น 100,000 บาท โดยเฟสที่สองน่าจะเริ่มได้ 2 ปีหลังจากนี้คือ ภาคธุรกิจคงจะแบกรับความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นไปได้อีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี เพราะหลังจากนั้นจะเริ่มขาดทุนจะนำไปสู่การปรับเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น"

นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า บริษัทที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ซึ่งรับประกันภัยรถจักรยานยนต์อยู่และไม่ได้เบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น อาจจะเริ่มขาดทุนเพราะรถจักรยานยนต์มีสถิติเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ดังนั้น ทางสมาคมฯ จะเสนอ คปภ.ขอลดเงินสมทบที่บริษัทประกันวินาศภัยทุกแห่งที่ขายประกันภัย พ.ร.บ. ต้องจ่ายให้กับริษัทกลางฯ ลง 5% จากปัจจุบันจ่ายให้อยู่ 12.25% เหลือ 7.25% เพื่อลดภาระบริษัทประกันวินาศภัยทุกแห่งที่จะมีค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นด้วยให้พออยู่ได้ ไม่ขาดทุนมาก ซึ่งการลดเงินสมทบบริษัทกลางฯ ลงอีก 5% ก็ไม่กระทบกับบริษัทกลางฯ มากเช่นกัน อย่างที่บอกถ้าในอนาคตขาดทุนเยอะก็ต้องปรับเบี้ยรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น

"ผมเชื่อว่าการเพิ่มความคุ้มครองจะทำให้การแข่งขันจ่ายค่าคอมมิสชั่นประกันภัย พ.ร.บ.ที่จ่ายกันสูงๆ ต้องปรับลดลงไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้เพราะ Loss Ratio เพิ่มขึ้นเยอะ"

นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัทกลางฯ เปิดเผยว่า กำลังประเมินอยู่ว่าจะกระทบอย่างไรบ้าง เพราะมีเรื่องกระบวนการคำนวณค่ารักษาพยาบาลด้วย มีผลกระทบแน่นอนจากค่าสินไหมที่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนหนึ่งบริษัทกลางฯ ก็ยังมีเงินสมทบจากบริษัทประกันวินาศภัยอยู่

"เรารู้อยู่แล้วว่าสินไหมต้องเพิ่มก็ต้องควบคุมบริหารจัดการด้านอื่นๆ ให้มากขึ้น รวมไปถึงลดการเกิดอุบัติเหตุ"

ด้านแหล่งข่าวจาก บมจ.เมืองไทยประกันภัย เปิดเผย "สยามธุรกิจ" ว่า ในส่วนของบริษัทเองเท่าที่ประเมินจะทำให้ Loss Ratio เพิ่มขึ้นประมาณ 10% คงต้องหาทางปรับลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ลง

ส่วนผลกระทบต่อสินไหมประกัน พ.ร.บ.ทั้งระบบจากการประเมินข้อมูลของบริษัทกลางฯ น่าจะทำให้สินไหมเพิ่มขึ้นประมาณ 30% โดยรถจักรยานยนต์จะเพิ่มประมาณ 30% ขณะที่รถยนต์เพิ่มประมาณ 10-15% โดยที่ความคุ้มครองเพิ่มขึ้นประมาณ 33% ทำให้ภาพรวมสินไหมเพิ่มประมาณ 30%

"ถามว่าขาดทุนหรือไม่คงไม่เยอะ เพราะด้วยเงินสมทบที่บริษัทประกันวินาศภัยอุดหนุนอยู่ แต่ก็ต้องปรับลดเงินสมทบลงมาเพราะบริษัทต่างๆ ก็ต้องนำเงินส่วนหนึ่งไปซัพพอร์ตสินไหมของตัวเอง บริษัทกลางฯ ปีหน้าคงเห็นผลว่าขาดทุนยังไง ส่วนบริษัทอื่นๆ คงเห็นผลเลยในปีนี้ แต่ละบริษัทก็ต้องไปดูต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่พอจะปรับลดได้"

นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนชาตประกันภัย กล่าวว่า การปรับเพิ่มความคุ้มครองโดยไม่เพิ่มเบี้ยกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวมแน่นอน ทำให้ต้นทุนสินไหมเพิ่มขึ้น ในเบื้องต้นประเมินกันว่าจะเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งในตลาดมีรถจดทะเบียนอยู่ประมาณ 15-16 ล้านคันนั้น ทำประกัน พ.ร.บ. ประมาณ 80% อยู่ที่กลยุทธ์ของแต่ละบริษัทมุ่งเน้นขยายตลาดนี้มากน้อยแค่ไหน หากขยายเยอะหรือขายประกัน พ.ร.บ.เพียวๆ จะได้รับผลกระทบเยอะ

สำหรับธนชาตประกันภัยต้องบริหารจัดการเช่นกัน โดยบริษัทไม่ได้เน้นขายประกันภัย พ.ร.บ.อย่างเดียว ขายพ่วงไปกับประกันภาคสมัครใจ ดังนั้น แม้ Loss Ratio จะขยับขึ้นมากแต่ไม่มาก ไม่กระทบเยอะ

"ผลจากการเพิ่มความคุ้มครองที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น  เชื่อว่าจะทำให้การแข่งขันจ่ายค่าคอมมิสชั่น พ.ร.บ.สูงๆ จะลดลง"

นายคมสัน ทองตัน รองกรรมการ ผู้จัดการ บมจ.สยามซิตี้ประกันภัย เปิดเผยว่า การเพิ่มความคุ้มครองประกันภัย พ.ร.บ. กระทบสินไหมของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยกำลังหารือกับตัวแทน นายหน้าจะปรับลดค่าคอมมิสชั่นลงมาหรือให้ช่วยคีย์ข้อมูลลูกค้าให้เนื่องจากบริษัทมีต้นทุนในการออกกรมธรรม์เยอะมาก

แหล่งข่าวจากบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งกล่าวว่า ปัจจุบันในตลาดยังแข่งขันกันจ่ายค่าคอมมิสชั่นประกันภัย พ.ร.บ. สูงอยู่ บางบริษัทให้ถึง 50% เทียบที่กฎหมายกำหนดให้จ่ายแค่ 12% คงจะต้องปรับลดลงเพื่อลดผลกระทบจากสินไหมที่เพิ่มขึ้น

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 - 18 มี.ค. 2559