ส.วินาศภัย  เหยื่อรถชนมีเฮ!คปภ.หักคอประกันเพิ่มค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นประกัน พ.ร.บ.เท่าตัวจาก 15,000 เป็น 30,000 บาท หลังไม่ได้ปรับมากว่า 10 ปี ยืนยันไม่ขึ้นเบี้ย เผยคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือ ผู้ทำประกันฝ่ายผิด-คนที่ถูกชนแล้วหนีหรือถูกรถไม่มีประกันชนรอคลัง-ครม.ไฟเขียวก่อนเริ่มใช้ต.ค.-พ.ย. ค่ายประกันจ๊าก!แบกสินไหมเพิ่มอีกปีละกว่า 600-700 ล้าน หนักสุดบริษัทกลางฯ รับมอ'ไซค์เยอะสุด ทำใจรับสภาพฝากความหวังโครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุท้องถนน-อี เคลมหวั่นร.พ.เอกชนสบช่องเมกตัวเลขค่ารักษาขยับคุมเข้มทุกบิล ส่วนเพิ่มคุ้มครองทรัพย์สินรอผลศึกษาปลายปี

การปรับปรุงพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ประกันภัยรถภาคบังคับ) เพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)และสมาคมประกันวินาศภัยไทยมีข้อสรุปจะเพิ่มเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นจากการรักษาพยาบาลเท่านั้นจากเดิม 15,000 บาทเป็น30,000 บาท ส่วนกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรและสูญเสียอวัยวะคงเดิมที่ 35,000 บาททำให้ค่าเสียหายเบื้องต้นเพิ่มขึ้นจาก 50,000 บาทเป็น 65,000 บาท ขณะที่เบี้ยคิดอัตราเดิม รถจักรยานยนต์ 300 บาท รถเก๋ง 600 บาท โดยคนที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือเจ้าของรถทำประกันที่เป็นฝ่ายผิด, ประชาชนที่ถูกรถชนแล้วหนีหรือถูกรถไม่มีประกันชน

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย "สยามธุรกิจ" เท่าที่ประเมินการเพิ่มรักษาพยาบาลเบื้องต้นทำให้ธุรกิจประกันภัยมีต้นทุนค่าสินไหมเพิ่มขึ้นอีกปีละประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท โดย70-80% จะตกอยู่กับบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะรับประกันภัยรถจักรยานยนต์แทนบริษัทสมาชิกซึ่งเป็นรถที่เบี้ยต่ำแต่ค่าเสียหายสูงและกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยที่จ่ายค่าเสียหายกรณีรถที่ชนไม่มีประกันภัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์

อย่างไรก็ดี สมาคมฯพยายามหาวิธีช่วยบริษัทกลางฯลดภาระจะทำผ่าน 2 แนวทางคือ 1.ให้โรงพยาบาลเบิกค่ารักษาพยาบาลผ่านระบบอี-เคลม ซึ่งสามารถควบคุมค่ารักษาพยาบาลได้ โดยโรงพยาบาลส่วนใหญ่เข้ามาสู่ระบบนี้แล้วหากโรงพยาบาลแห่งใดยังไม่เข้าร่วมจะเข้าไปควบคุมการเบิกเคลมใกล้ชิดมากขึ้นมีการวางกฎเกณฑ์การเบิกค่ารักษาพยาบาลเพราะเกรงว่าอาจจะมีโรงพยาบาลบางแห่งที่อยู่นอกการควบคุมอาจจะเมกตัวเลขค่ารักษาขึ้นมาเพราะเห็นช่องเบิกเงินได้เพิ่มขึ้น

และ 2.ปริมาณการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนน่าจะลดลงโดยจะเพิ่มการรณรงค์ลดอุบัติเหตุผ่านโครงการและความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น อาทิ เมาไม่ขับ สวมหมวกกันน็อก ซึ่งจะลดความรุนแรงของการบาดเจ็บลงได้ ขณะที่เงินสมทบที่บริษัทประกันภัยต้องนำส่งบริษัทกลางฯ ยังไม่ต้องเก็บเพิ่มอัตราเดิมน่าจะรับได้อย่างน้อยถึงกลางปีหน้า

"แง่ผู้บริโภคไม่ได้อะไรมากเพราะถ้าเข้าโรงพยาบาลรัฐอย่างไรต้องดูแลคนเจ็บอยู่แล้วเพียงแต่จะได้รับการรักษาในวงเงินที่เพิ่มขึ้น"

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ในฐานะกรรมการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ "สยามธุรกิจ" ว่า การเพิ่มค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นทำให้บริษัทประกันภัยแบกภาระต้นทุนค่าสินไหมเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันล้านบาทต่อปีเพราะในค่าสินไหมประกันภัยพ.ร.บ.ตัวหลักคือค่ารักษาพยาบาล

"บริษัทแบกต้นทุนสินไหมเพิ่มขึ้นแน่แต่เราเชื่อมั่นว่าบริษัทรับได้เพราะเชื่อว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนถนนน่าจะลดลงทั้งในจากคุณภาพผู้ขับขี่  การรณรงค์ลดอุบัติเหตุและถนนที่ดีขึ้น"

ด้านนายอรัญ ศรีว่องไทย กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.มิตรแท้ประกันภัย กล่าวกับ "สยามธุรกิจ"ว่า ยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้ายอาจจะปรับเปลี่ยนได้ เท่าที่ประเมินหากเพิ่มค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นอีก 15,000 บาทจะทำให้อัตราสินไหม(ลอส เรโช) ประกันพ.ร.บ.เพิ่มอีกราว 300-400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะกระทบกับบริษัทกลางฯ มากที่สุดเพราะรับประกันพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์มากที่สุด  บริษัทอื่นๆ อาจจะมีบ้างแต่ไม่มาก แต่บริษัทกลางฯ ก็มีเงินสมทบจากบริษัทประกันอยู่เชื่อว่า ณ ตอนนี้ก็ยังไม่ถึงขั้นต้องเพิ่มเงินสมทบต้องรอให้ปรับจริงแล้วเก็บสถิติก่อนถึงจะรู้ว่าจะกระทบมากน้อยเพียงใด

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัทกลางฯกล่าวกับ "สยามธุรกิจ" ว่า หากปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นกระทบโดยตรงต่อบริษัทกลางฯ แน่นอนเพราะเปอร์เซ็นต์ค่าสินไหมส่วนใหญ่จะมาจากค่าเสียหายเบื้องต้น ส่วนกรณีเสียชีวิตมีน้อยมาก เฉลี่ยแค่ประมาณ 10,000 รายต่อปี แต่ผู้ประสบภัยที่บาดเจ็บเฉลี่ยประมาณ 300,000 รายต่อปีแต่บริษัทกลางฯ ยังมีเงินสนับสนุนจากเงินสมทบที่บริษัทประกันภัยจ่ายให้อยู่

"จากสถิติสินไหมค่ารักษาพยาบาลประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อปี หากเพิ่มเข้ามาอีก 15,000 บาทต่อคน ก็เท่ากับว่าค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นเพิ่มเท่าตัว แต่ค่าสินไหมที่เพิ่มขึ้นจริงๆ ยังประเมินยาก ถ้าเพิ่มแค่ค่ารักษาเบื้องต้นอย่างเดียว บริษัทกลางฯยังพอรับไหวแต่หากมีปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเข้า เช่นการปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขจะทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจอาจจะรับไม่ไหว"

แหล่งข่าวจากบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งให้ความเห็น "สยามธุรกิจ" ว่า การเพิ่มค่ารักษาเบื้องต้นทำให้รัฐประหยัดงบประมาณดูแลผู้ประสบภัยจากรถได้เพิ่มขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนสามารถเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยได้เพิ่มขึ้นจาก15,000 บาท เป็น 30,000 บาท

ด้านแหล่งข่าวจากคปภ.กล่าวว่า กระบวนการเพิ่มความคุ้มครองพ.ร.บ.ตามกฎหมายเป็นอำนาจของรมว.กระทรวงการคลังซึ่งต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งมีกำหนดประชุมกันในวันที่ 10 กันยายนนี้ก่อนหากอนุมัติทางคปภ.จะต้องมาร่างกฎกระทรวงเสนอบอร์ดคปภ.หลังจากนั้นเสนอต่อไปยังรมว.กระทรวงการคลัง, ครม.และกฤษฎีกาก่อนออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งตามเป้าหมายของคปภ.อยากให้เริ่มมีผลประมาณตุลาคมหรือพฤศจิกายนนี้

"เท่าที่คุยกับภาคธุรกิจต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเขารับได้อยู่ อีกอย่างมีอี-เคลมที่จะช่วยลดต้นทุนให้เขาได้ การเพิ่มค่ารักษาพยาบาลทำให้การดูแลผู้ประสบภัยจากรถดีขึ้นจากเดิมส่วนที่เกิน 15,000 บาท ประชาชนรับภาระอยู่ บางส่วนใช้ระบบของรัฐพอปรับมาเป็น 30,000 บาท ประชาชนไม่ต้องมารับภาระส่วนเกินนี้ ทำให้ได้รับการรักษาดีขึ้น"

ทั้งนี้กลุ่มที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือผู้เอาประกัน ประชาชนที่ถูกรถชนแล้วหนีหรือรถไม่มีประกันชนที่ต้องมาเบิกจากกองทุนฯซึ่งกฎหมายกำหนดให้จ่ายค่ารักษาเบื้องต้นได้แค่15,000 บาทพอเพิ่มเป็น 30,000 บาททำให้ได้รับการดูแลดีขึ้น คนกลุ่มนี้มีไม่น้อยปีหนึ่ง50,000 คน ซึ่งค่ารักษาพยาบาล เบื้องต้นไม่ได้ปรับมาเป็น 10 ปีแล้วทั้งที่ค่ารักษาพยาบาลปรับขึ้นตลอด ขณะที่ประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยจากรถได้รับค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นสูงสุด 50,000 บาทอยู่แล้ว

ส่วนการเพิ่มความคุ้มครองทรัพย์สินบุคคลที่ 3 คงต้องรอผลศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)น่าจะเสร็จปลายปีนี้

อนึ่ง ความคุ้มครองสูงสุดกรณีเสียชีวิตทุพพลภาพภาวรและสูญเสียอวัยวะ 200,000 บาทและค่าชดเชยรายวันกรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลวันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน20 วันในประกันภัยพ.ร.บ.ยังคงเดิม--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 - 13 ก.ย. 2556--