สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) กระทรวงสาธารณสุข เผย การกำหนดนโยบาย มาตรการเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ แอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด และอุบัติเหตุบนถนน ใช้ “ความจริงด้านวิทยาศาสตร์” มากกว่า “ความจริงด้านสังคม” เชิญผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงานทั้งรัฐ เอกชน ทบทวน “มิติสังคมและวัฒนธรรม” ที่มีผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพใน 4 ปัจจัยเสี่ยง คือ การบริโภคแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติด และอุบัติเหตุบนถนน
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ณ โรงแรมบัดดี้ โอเรียลทอล ริเวอร์ไซด์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ทบทวนสถานะองค์ความรู้มิติสังคมวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ” เชิญชวนให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับ 4 ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ได้แก่ แอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด และอุบัติเหตุบนถนน ร่วมทบทวนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มิติสังคมวัฒนธรรมกับปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ รวมทั้งค้นหาช่องว่างความรู้ จัดโดยสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ระหว่างวันที่ 24 - 26 กุมภาพันธ์ 2559 โดยการสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
นพ.โกมาตร กล่าวว่า จากการทบทวนองค์ความรู้จากงานวิจัยและการแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ พบว่า การกำหนดมาตรการและนโยบายด้านสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับ 4 ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพนั้น เป็นการนำความรู้ความเข้าใจจากการวิจัยเชิงปริมาณ ที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลของปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยง ที่วัดค่าออกมาเป็นตัวเลข และวิเคราะห์ทางสถิติเป็นหลัก ซึ่งเป็น “ความจริงทางวิทยาศาสตร์” ส่วนการศึกษาวิจัยในมิติสังคมวัฒนธรรมของความเสี่ยงสุขภาพที่เป็น “ความจริงทางสังคม” ได้รับการศึกษาและนำมาพิจารณาประกอบการออกมาตรการและนโยบายต่างๆ น้อย ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจ ไม่ตระหนักและไม่ร่วมมือ ส่งผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่
ในขณะเดียวกันวัฒนธรรมการทำงานของเจ้าหน้าที่ในบางกรณีก็พบว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพที่ชาวบ้านแสดงออก โดยมิติสังคมวัฒนธรรมของความเสี่ยงสุขภาพ มี 2 มิติ คือ
1.วัฒนธรรมของชาวบ้าน เช่น มุมมองและการแสดงออกของชาวบ้านหรือกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ที่มีต่อความหมายของความเสี่ยงสุขภาพและมาตรการต่างๆ มิติเพศสภาพ (ความเป็นชาย/หญิง) ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ เป็นต้น
และ 2.วัฒนธรรมขององค์กร เช่น วัฒนธรรมราชการ วัฒนธรรมการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม ที่ส่งผลต่อการกำหนดมาตรการเพื่อการควบคุมป้องกันปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น การศึกษามิติทางสังคมวัฒนธรรมของแอลกอฮอล์ ที่ไม่ได้ตีตรามองผู้บริโภคในฐานะประชากรกลุ่มเสี่ยงที่จะก่อปัญหาสังคมด้านต่างๆ หรือเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา หากศึกษาความหมายทางสังคมของแอลกอฮอล์ในแต่ละวัฒนธรรม เช่น เป็น “ตัวแบ่งเวลา/สถานการณ์” ในหลายสังคมผู้คนนิยมดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาพักผ่อนหรือเทศกาลเฉลิมฉลอง แอลกอฮอล์จึงทำหน้าที่บ่งบอกการสิ้นสุดของช่วงเวลา “ปกติ-เคร่งเครียด” เพื่อเข้าสู่ช่วงเวลา “พิเศษ-ผ่อนคลาย”
ในทางกลับกันในบางสังคมดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสื่อนัยยะการสิ้นสุดช่วงเวลาพักผ่อนเพื่อเข้าสู่ช่วงเวลาปกติหรือการทำงาน เช่น ผู้ชายในแคว้นอันดาลูเซีย (Andalusia) ประเทศสเปน จะนิยมดื่มกาแฟผสมแอลกอฮอล์ตอนเช้าหลังตื่นนอนก่อนไปทำงาน ตลอดจนในแทบทุกสังคมมีกฎเกณฑ์ทางสังคมต่างๆ เพื่อควบคุมพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมาะสมไม่ก่อความรำคาญหรืออันตรายกับคนอื่น เป็นต้น พฤติกรรมการดื่มและแอลกอฮอล์จึงมีความหมายทางสังคมแตกต่างกันไปในแต่ละสังคมวัฒนธรรม
ทั้งนี้ สวสส.มีเป้าหมายว่า ผลที่ได้จากงานประชุมครั้งนี้และกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาของแผนงานวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ จะมีประโยชน์ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่สุขภาพที่ทำงานควบคุมป้องกันปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ มีมุมมองที่กว้างขึ้นในการทำงานและมีความละเอียดอ่อนในการออกมาตรการหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพของผู้คน โดยเคารพความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละวัฒนธรรมในสังคมไทย
- 466 views