สธ.ขอไอซีทีหนุนวางโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกเชื่อม รพ.สต.-รพ.ชุมชน ทำ telemedicine พร้อมฐานข้อมูลและซอฟต์แวร์ Personal Health Record (PHR) หรือแพล็ทฟอร์มสารสนเทศสุขภาพ ซึ่งแพทย์และพยาบาลสามารถเข้าถึงข้อมูล PHR เพื่อทราบข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการรักษาชีวิต เช่น การรักษาที่ผ่านมา การผ่าตัดที่สำคัญที่ผ่านมา การแพ้ยาต่าง ๆ และเบอร์โทรติดต่อแพทย์ประจำตัว

นายอุตตม สาวนายน

นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) เพื่อสอบความต้องการของ สธ.ว่าต้องการให้กระทรวงไอซีทีสนับสนุนการทำงานในเรื่องใดบ้าง ซึ่งสธ.ได้มีการประชุมภายในและส่งหนังสือมายังกระทรวงไอซีทีแล้ว โดยข้อเสนอหลักๆ คือ อยากให้ช่วยดูแลการใช้โครงข่ายของไอซีทีเชื่อมโยงเครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน ให้เชื่อมถึงกัน เพื่อส่งข้อมูลทางการแพทย์เป็น telemedicine และขอให้ไอซีทีช่วยดูว่าจะช่วยทำฐานข้อมูลการแพทย์ในชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจมาก

ด้านนายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรมว.ไอซีที กล่าวว่า ข้อเสนอของ สธ.มี 5 ข้อ ประกอบด้วย

1.ขอให้ใช้ Government Information Network (GIN) เพิ่มแบนด์วิดและสปีดอินเทอร์เน็ตให้กับทุกกรมของ สธ.

2.ขอให้วางโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก (Fiber Optic) หรือเคเบิลใยแก้วนำแสง เชื่อมโยง รพ.สต.เข้าด้วยกัน

3.สนับสนุนการจัดเก็บฐานข้อมูลของโรงพยาบาลขนาด 800 เทราไบต์ รวมทั้งสนับสนุนซอฟต์แวร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย

4.จัดทำสื่อให้ความรู้แก่ประชาชนด้านสุขภาพ

และ 5.ขยายผลการใช้งานแพล็ตฟอร์ม Personal Health Record ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ซึ่งขณะนี้นำร่องใช้งานกับสาธารณสุขจังหวัดนครนายก

“ตอนนี้ก็ต้องมาดูว่ามีอะไรบ้างที่ไอซีทีทำได้ทันที อย่างการวางโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกให้ รพ.สต. ถ้าอยู่ในเขตพื้นที่ 3 หมื่นหมู่บ้านที่ไอซีทีกำลังจะวางโครงข่ายให้ครอบคลุม ก็จะทำให้ได้ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ห่างไกล ก็ต้องมาดูอีกทีว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรในการเชื่อมโยงข้อมูล หรืออย่างเรื่องการทำสื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพ เราก็อาจทำให้ศูนย์ดิจิตอลชุมชน 2,280 แห่งทั่วประเทศได้ แต่ถ้าอันไหนที่ไอซีทียังไม่มี ก็อาจทำเป็นโครงการใหม่เสนอคณะกรรมการเตรียมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ก็ได้" นายพันธ์ศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของ Personal Health Record หรือ PHR เป็นแพล็ทฟอร์มสารสนเทศด้านสุขภาพ ซึ่งแพทย์และพยาบาลสามารถเข้าถึงข้อมูล PHR เพื่อทราบถึงข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการรักษาชีวิต เช่น การรักษาที่ผ่านมา การผ่าตัดที่สำคัญที่ผ่านมา การแพ้ยาต่าง ๆ และเบอร์โทรติดต่อแพทย์ประจำตัว

นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถดูแลสุขภาพตนเองระหว่างรอการพบแพทย์ครั้งหน้า เช่น ข้อมูลจากเครื่องวัดความดัน เครื่องออกกำลังกาย สามารถนำเข้าสู่ระบบเพื่อเปรียบเทียบและปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ได้ด้วย สามารถบริหารข้อมูลสุขภาพของตัวเองและครอบครัวอย่างเป็นระบบ ติดตามและบริหารนัดพบแพทย์ได้ ติดตามและบริหารการรับวัคซีนได้อย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น