กระทรวงสาธารณสุขจับมือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนางานเบื้องต้นเน้น 3 ด้าน คือ บูรณาการข้อมูลด้านสุขภาพ การพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และการสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เตรียมลงนามข้อตกลงกันยายนนี้
วันนี้ (2 กันยายน 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 8/2559 โดยก่อนการประชุมได้เชิญ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บรรยายพิเศษใน 4 ประเด็นคือ เทคโนโลยีดิจิทัลกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การขับเคลื่อนแผนฯในระยะเร่งด่วน และการสร้างนวตกรรมจากเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งหารือความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระบบการแพทย์และสาธารณสุข โดยถ่ายทอดเสียงไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
โดยในแผนงานที่ 5 ของแผนแม่บทพัฒนาดิจิทัล ว่าด้วยการเพิ่มโอกาสการให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพที่ทันสมัย ทั่วถึง และเท่าเทียม รองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ตั้งเป้าจะบูรณาการระบบประวัติสุขภาพผู้ป่วยอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ารับการรักษาและการรักษากรณีฉุกเฉิน ส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสม เช่น บริการแพทย์ทางไกล ปรึกษาปัญหา การเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัยด้านสุขภาพ เพื่อสุขภาพในรูปแบบใหม่ และเร่งจัดทำนโยบายและแผนการดำเนินงานการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนวทางการดำเนินการร่วมกัน 3 ด้าน ดังนี้
1.การบูรณาการข้อมูลด้านสุขภาพ/พัฒนาข้อมูลด้านสุขภาพสำหรับประชาชน ด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ และการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ เน้นเรื่องการให้ข้อมูลประวัติสุขภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวของข้อมูลสูงสุด
2.การพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์และกำหนดแนวทางการสร้างนวตกรรมด้านสุขภาพและรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย กำหนดมิติของ Big Data เพื่อการแพทย์ การดูแลสุขภาพจำเป็นเร่งด่วนและต้องการการวางแผนระยะยาว เช่น ความต้องการบริการด้านสุขภาพของประเทศ การแพทย์ฉุกเฉิน ข้อมูลสุขภาพ จราจร รวมทั้งการเตรียมพัฒนาบุคลากรกำลังคนที่เกี่ยวข้อง
3.การสร้าง Health Literacy ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Content) เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันข้อมูลสุขภาพ โดยแปลงข้อมูลเป็นรูปแบบดิจิทัลที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจ ทั้งรูปแบบคลิปวิดีโอ รูปภาพ คลังข้อมูลสุขภาพ บริหารจัดการข้อมูลสื่อเผยแพร่ผ่านเครือข่าย ทั้งสาธารณสุข ศึกษา ชุมชน ออนไลน์
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ประสานการทำงานกับกระทรวงไอซีที พร้อมให้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น G-Chat มาใช้ประโยชน์ในทีมหมอครอบครัว ในการจัดบริการประชาชนให้บรรลุวิสัยทัศน์ประชาชนสุขภาพดีต่อไป
- 97 views