คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 4 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุข ที่มีพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมและสานพลังประชารัฐ เน้น “ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ” และเร่งรัดจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปเห็นผลในปี 2560
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 4 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุข โดยมี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุข ว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อการปฎิรูปด้านสาธารณสุข ในระยะ 18 เดือน และแนวทางปฏิรูปต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2561-2565 ใน 3 ด้าน คือ
1.ด้านระบบบริการสุขภาพส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค แพทย์แผนไทยและศูนย์กลางด้านการแพทย์
2.ด้านการคลังสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพ
และ 3.ด้านการอภิบาลระบบสุขภาพ
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมจากคณะทำงานขับเคลื่อนและปฏิรูปฯ ทั้ง 8 คณะ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั่วประเทศ
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ในด้านระบบบริการ มีเป้าหมายลดป่วย ลดตาย ลดรอคอย และลดการส่งต่อ เน้นให้มีกลุ่มเครือข่ายบริการปฐมภูมิเกิดขึ้น 1 แห่งต่อจังหวัด เริ่มจากเขตเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 1 เครือข่ายดูแลประชาชน 30,000 คน มีแพทย์ 1 คนดูแล 10,000 คน และมีคณะกรรมการระบบบริการปฐมภูมิในรูปแบบไตรภาคี มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนร่วมบริหารจัดการ นำร่อง 60 อำเภอทั่วประเทศ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพประชาชนและครอบครัว
สำหรับระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ พัฒนาระบบดูแลรักษาโรคที่เป็นปัญหาการตายที่สำคัญ คือ
โรคหัวใจ จะพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ 18 แห่งให้สามารถผ่าตัดและสวนเส้นเลือดหัวใจได้ เพื่อลดการตายจากโรคหัวใจไม่เกินร้อยละ 10
โรคไต มีคลินิกชะลอไตเสื่อมในโรงพยาบาลขนาด 30 เตียงขึ้นไปทุกแห่ง
โรคหลอดเลือดสมอง มีหน่วยดูแลในโรงพยาบาล 38 แห่งทั่วประเทศ
และร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ใน 5 สาขาหลัก คือมะเร็ง โรคหัวใจ อุบัติเหตุ สมอง ทารกแรกเกิด และการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ
นอกจากนี้จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดระบบการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง และตั้งเป้าหมายแผนในปี 2561-2565 ลดเวลารอคอยการรักษาผู้ป่วยนอกไม่เกิน 120 นาที ลดการส่งต่อออกนอกเขตสุขภาพ
สำหรับด้านสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค จะเน้นให้มีกลไกคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคระดับชาติ (National Public Health Board) และให้มีการขับเคลื่อนในหลักการทุกภาคส่วนเพื่อการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (Health in All Policies) เพื่อให้เกิดการบูรณาการและเครือข่ายในการลดความเสี่ยงและภัยสุขภาพทุกกลุ่มวัย ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติกาภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับจังหวัดทุกจังหวัด โดยแยกงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ชัดเจน และจะเพิ่มให้ได้ร้อยละ 1 ของจีดีพี
ด้านการคลังสุขภาพระยะสั้นในปี 2559 จะเสนอ ครม.คืนสิทธิด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และแรงงานไม่มีสถานะ โดยเตรียมจัดตั้งกองทุนควบคุมโรคสำหรับประชากรข้ามชาติ ในระยะยาว จะจัดระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวและนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ จะลดความเหลื่อล้ำด้านสุขภาพ ระหว่างระบบประกันสุขภาพผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ไม่ต้องจ่ายเพิ่มหรือถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายก่อน
และด้านการอภิบาลระบบสุขภาพ เน้นให้เกิดกลไกที่เป็นเอกภาพระดับชาติและระดับพื้นที่ ให้เกิดระบบสุขภาพที่มีประสิทธิผลคุ้มค่า และสานพลังหน่วยงานต่างๆ และประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพและระบบการสาธารณสุขของไทย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบการสาธารณสุข 3 คณะ ได้แก่ คณะขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านระบบบริการสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค แพทย์แผนไทยและศูนย์กลางด้านการแพทย์ ด้านการคลังสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพ และด้านการอภิบาลระบบสุขภาพ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการสาธารณสุขให้เห็นผลในปี 2560 ต่อไป
- 18 views