หนุน สวรส.สร้างระบบเครือข่ายงานวิจัยระบบสุขภาพ เชื่อมโรงเรียนแพทย์ ชี้การจะใช้งานวิจัยพัฒนาระบบสุขภาพให้เข็มแข็งได้ ต้องพัฒนาเป็นความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตบุคลากร ระบบบริการสาธารณสุข มหาวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุข
ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวในการประชุมเครือข่ายการวิจัยระบบสุขภาพว่า ระบบสาธารณสุขในประเทศไทยยังมีปัญหา ส่วนหนึ่งมองว่าโรงเรียนแพทย์ยังไม่เข้าใจระบบสาธารณสุข และมักจะอยู่ในโซนของตัวเอง หากอาจารย์โรงเรียนแพทย์ยังคงตั้งรับอยู่แบบนี้ จะทำให้ระบบสุขภาพไม่เข้มแข็ง ฉะนั้น จำเป็นต้องพัฒนาความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตบุคลากร ระบบบริการ มหาวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุข ในการขยายความร่วมมือ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยให้มากขึ้น สวรส. ในฐานะที่เป็นองค์กรบริหารจัดการงานวิจัยระบบสุขภาพ จึงควรเป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานให้เกิดการทำงานแบบเครือข่ายที่เป็นระบบและยกระดับคุณภาพงานวิจัยสู่การพัฒนาระบบสุขภาพต่อไป
นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศจำเป็นต้องอาศัยการวิจัยและการเรียนรู้ ในประเทศที่สามารถก้าวข้ามกับดักจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางนั้น ส่วนหนึ่งมีการวิจัยค้นคว้า โดยประโยชน์ของการวิจัยนั้นไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ประเทศมั่งคั่งร่ำรวยมากมาย แต่เป็นการนำความรู้จากการวิจัยเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด คุ้มค่า ลดการนำเข้า และช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศได้
“สวรส. มีแผนยุทธศาสตร์ที่พร้อมเป็นตัวกลางประสานอำนวยการให้เกิดการเชื่อมโยงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในการยกระดับงานวิจัยสู่การวิจัยเชิงระบบของสถาบันการศึกษา รวมทั้งการยกระดับงานประจำสู่งานวิจัย หรือ R2R สู่การเป็นการวิจัยจากงานประจำสู่การเป็นนโยบาย หรือ R2P การต่อยอดศักยภาพนักวิจัย การสร้างแรงจูงใจ ตลอดจนการสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ โดยมีเป้าหมายการทำงานเครือข่ายการวิจัยระบบสุขภาพ ที่จะสร้างงานวิจัยที่จะเป็นทิศทางการพัฒนาที่สำคัญของประเทศ ภายใต้การทำงานร่วมกันของเครือข่ายฯ ที่จะนำไปสู่การจัดระบบสุขภาพของประเทศได้” นพ.พีรพล กล่าว
ด้าน นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผอ.ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า งานวิจัยที่มีคุณภาพต้องมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่ชัดเจน การทำงานแบบเครือข่าย เช่น การนำเสนอข้อมูลผลงานวิจัยในเรื่องหรือในทิศทางเดียวกัน จะทำให้มีพลังในการขับเคลื่อนมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าหน่วยงานใดที่จะนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น
“ข้อเสนอจากการประชุมครั้งนี้ทำให้เห็นรูปแบบการดำเนินงานของแต่ละเครือข่ายวิจัยในระบบสุขภาพ ทั้งโรงเรียนแพทย์ หน่วยงานภาคี รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีโอกาสของการทำงานร่วมกันในอนาคต เช่น ทิศทางที่จะแลกเปลี่ยนหัวข้อการวิจัยตามบริบทของแต่ละพื้นที่/ภูมิภาค การนำผลงานวิจัยหรือข้อมูลมารวมกันเพื่อดูทิศทางการพัฒนา การอบรมพัฒนาบุคลากรการวิจัยระบบสุขภาพ การพัฒนางานวิจัยสู่นโยบายโดยกลุ่มโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศเพื่อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น โดยมี สวรส. เป็นหน่วยงานเชื่อมประสาน” นพ.วิวัฒน์ กล่าว
- 14 views