กระทรวงสาธารณสุข จัดระบบการดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง กว่า 1 แสนคนใน 1,092 ตำบลเป้าหมายทั่วประเทศ เฉพาะ 14 จังหวัดภาคใต้ มีพื้นที่เป้าหมาย 190 ตำบล เร่งอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุ ไม่ต่ำกว่า 1,750 คน เน้นการส่งเสริมสุขภาพและดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับการดูแลจากทีมสหวิชาชีพ จากหน่วยงานปฐมภูมิอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้กลับมาพึ่งตนเองได้
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ จ.นครศรีธรรมราช นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน โครงการพัฒนาระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ตำบล ในภาคใต้ 14 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส สตูล สงขลา ยะลา พัทลุง ปัตตานี ตรัง ชุมพร พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี ระนอง ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ การจัดการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวจึงเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากงบเหมาจ่ายรายหัวปกติ เพิ่มอีก 600 ล้านบาทเป็นพิเศษ สำหรับดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ตำบล (Long Term Care) ตามชุดสิทธิประโยชน์ เป้าหมายการดำเนินงาน ในปี 2559 คือ ผู้สูงอายุกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิงจำนวน 100,000 ราย ในพื้นที่ 1,092 ตำบลทั่วประเทศ สำหรับภาคใต้มีประชากรสูงอายุทั้งหมด 1,008,920 คน
จากการสำรวจความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน พบว่า มีกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน ร้อยละ 8.07 และกลุ่มติดเตียง ร้อยละ 1.43 โดยมีผู้สูงอายุ กว่า 1 แสนคนที่ต้องการความช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด และเป็นผู้สูงอายุในพื้นที่เป้าหมาย 190 ตำบล จำนวน 17,500 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุติดบ้าน 14,800 คน ติดเตียง 2,700 คน
ทั้งนี้ ได้มีการดำเนินงานพัฒนาตามมาตรฐานตำบลการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวตั้งแต่ปี 2555 จำนวน 270 ตำบล กระจายในทุกอำเภอของ 14 จังหวัดภาคใต้ ในปี 2558 ได้อบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) หลักสูตรกรมอนามัย 689 คน ในอำเภอนำร่อง 14 อำเภอ 42 ตำบล และอบรมผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) 75 คน เป็นแกนนำในอำเภอเพื่อวางแผนการดูแลผู้สูงอายุ ส่วนในปี 2559 จะมีการสนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุ ไม่ต่ำกว่า 1,750 คน ในพื้นที่เป้าหมาย 190 ตำบล ตามนโยบายของขวัญปีใหม่ กระทรวงสาธารณสุข เน้นการส่งเสริมสุขภาพและดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับการดูแลจากทีมสหวิชาชีพ จากหน่วยงานปฐมภูมิอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้กลับมาพึ่งตนเองได้
เช่นที่ ต.คลองน้อย อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ที่พัฒนาศักยภาพของทีมอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ด้วยวิธีการเรียนรู้แบบปฏิบัติจริง เชื่อมโยงการทำงานด้วยโปรแกรมไลน์ (Line) ตั้งแต่การติดตามเยี่ยมดูแลผู้สูงอายุ ให้ความรู้ผู้ดูแลในครอบครัว การส่งต่อ การขอคำปรึกษาเมื่อพบปัญหาด้านความรู้หรือเทคนิคการดูแลสุขภาพ และการรายงานผลการดำเนินงาน ส่งผลให้อัตราครองเตียงในกลุ่มสูงอายุในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพศูนย์อนามัยที่ 11 ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ในปี 2558 เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดูแลสุขภาพในประชาชนทุกกลุ่มวัยอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 97.51 และกลุ่มติดบ้านติดเตียงลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2.48 ไม่มีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งในชุมชน ผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียง ติดบ้านสามารถกลับมาเป็นผู้สูงอายุกลุ่มที่ดีขึ้น ในระยะเวลา 3 ปี และ อสม.ยังมีบทบาทในการขยายผลไปสู่การดูแลสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัยอีกด้วย
- 51 views