ในการประชุมวิชาการ "ประชารัฐร่วมรับผิดชอบระบบหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน" ซึ่งจัดโดย สำนักกฏหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ ร่วมกับ สมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ ชมรมสายใยความหวังผู้ป่วย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสคร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อเร็วๆ นี้ นั้น
ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวภายในการประชุมวิชาการดังกล่าวว่า การทำให้ระบบสาธารณสุขของชาติยั่งยืนนั่น ทุกฝ่ายควรทำตรงตามหน้าที่ โดย สปสช. ควรทำหน้าที่เฉพาะการประกันค่าใช้จ่ายในการรักษา ส่วน สธ. และ รพ. เป็นผู้กำหนดแนวทางการรักษาโรค จัดหายาและการตรวจวินิจฉัยเอง ส่วนการร่วมจ่ายหรือร่วมประกันนั้นควรทำให้ระบบได้เงินหลายทาง ปรับพฤติกรรมสุขภาพ และใช้วิธีที่เหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนนั้น
รศ.ดร. ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงข้อเสนอจากงานวิจัยหัวข้อการเงินการคลังแบบยั่งยืน ว่ากรณีที่ไม่ปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์เดิม รัฐต้องหารายได้เพิ่มหรือจัดให้มีระบบร่วมจ่ายหรือปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบร่วมกับการเก็บข้อมูลต้นทุนการให้บริการที่ดี และ กรณีที่มีการจัดประเภทสิทธิประโยชน์หลัก และสิทธิประโยชน์เสริม (เนื่องจากบัตรทองไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค) โดยมีการร่วมจ่ายระหว่างผู้ใช้บริการและรัฐบาลสำหรับสิทธิประโยชน์เสริม การร่วมจ่ายก็ทำได้ทั้งการร่วมจ่ายล่วงหน้าและร่วมจ่ายที่เหมาะสมเมื่อเข้ารับการรักษา การจัดสิทธิประโยชน์เป็นแบบหลักและเสริมเพื่อทางเลือกที่เพิ่มขึ้น น่าจะเหมาะสมเพื่อความยั่งยืนของระบบ
ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เสนอให้มีการจัดตั้งบรรษัทประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเป็นสิทธิประโยชน์ส่วนเพิ่ม เช่น ตอนนี้ปีหนึ่ง งบบัตรทองจ่ายอยู่ที่ 3,000 บาทต่อปี ถ้าจ่ายเพิ่มขึ้นอีกวันละแค่ 10 บาท ก็จะได้ประกันเทียบเท่ากับประกันสุขภาพกลุ่มของภาคเอกชน ที่สามารถบริหารได้ ประชาชนได้สิ่งที่ดีขึ้น เช่นใช้สิทธินอกเวลาในโรงพยาบาลรัฐ หรือการใช้ยานอกบัญชียาหลัก ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชน
นพ.วีรวัฒน์ ยอแสงรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิริโรจน์ ภูเก็ต กล่าวว่า โมเดลความร่วมมือของโรงพยาบาลรัฐและบริษัทประกันเอกชน ที่สามารถนำไปขยายต่อยอดได้ โรงพยาบาลรัฐสามารถรับการประกันจากบริษัทประกันสุขภาพเอกชน ด้วยงบประมาณที่ไม่มาก เมื่อเทียบกับการทำประกันเพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ โรงพยาบาลรัฐก็มีรายได้ช่วยเหลือผู้ป่วยบัตรทอง และประชาชนประหยัดเงินเพื่อใช้บริการที่มีคุณภาพ
พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ เห็นว่าควรมีการปฏิรูปกฏหมายเพื่อให้การดำเนินงานด้านประกันสุขภาพอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อการกำกับดูแลด้วยกลไกการตรวจสอบที่โปร่งใสป้องกันการรั่วไหลของงบประมาณ และควรจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งบรรษัทประกันสุขภาพ และขยายขอบเขตการ นำประชากรวัยแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม
ที่ประชุมจะจัดทำข้อเสนอเพื่อยื่นต่อรัฐบาล และสนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม โดยผู้ร่วมประชุมจะร่วมอาสามาช่วยทำงานต่อไป
- 24 views