โรงเรียนพยาบาลรามาฯ วางกรอบนโยบายคู่ขนาน เพิ่มผลิตพยาบาลวิชาชีพทั่วไปชดเชยการขาคแคลน พร้อมมุ่งพัฒนาพยาบาลวิชาชีพขั้นสูงระดับวุฒิบัตรหรือผู้เชี่ยวชาญทางคลินิก (APN) รับมือ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบรูณ์” ในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดจำนวนผู้สูงอายุพุ่งกว่า 14 ล้านคน ระบุความเชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแลผู้ป่วย ช่วยลดภาระแพทย์ ลดภาระรายจ่ายภาครัฐ และเพิ่มคุณภาพการดูแลและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
ผศ.เรณู พุกบุญมี
2 กุมภาพันธ์ 2559 ผศ.เรณู พุกบุญมี ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาความท้าท้าย และภัยคุกคามด้านสุขภาพต่างๆ หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต คือ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ และการประมาณการค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ดังนั้นโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีซึ่งถือเป็นสถาบันผลิตพยาบาลชั้นนำของประเทศ จึงได้มุ่งดำเนินนโยบายคู่ขนาน พัฒนาพยาบาลวิชาชีพทั่วไปชดเชยการขาดแคลน ควบคู่กับการพัฒนาผู้ปฏิบัติการพยาบาลชั้นสูง หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญทางคลินิก หรือ APN (Advance Practice Nurse) เพื่อรองรับสถานการณ์ทางสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 64.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 9.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.5 ของประชากร เป็นผู้สูงอายุนอนติดบ้านติดเตียงที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงกว่า 1 ล้านคน ปัญหาสุขภาวะในผู้สูงอายุ ที่พบมากที่สุด 5 อันดับต้น ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง 41.4% ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน 37.4% โรคเบาหวาน 18.2% โรคซึมเศร้า 13.4% และโรคข้อเข่าเสื่อม 8.6%
โดยแต่ละปีจะมีคนสูงอายุเพิ่มขึ้นถึงปีละ 5 แสนคน ซึ่งจากการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข ระบุ ว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” จะมีผู้สูงอายุถึง 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากร หรือในทุก 5 คนของประชากรจะมีผู้สูงอายุ 1 คน ประกอบกับ สหประชาชาติคาดการณ์ว่า สัดส่วนผู้สูงอายุของไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และไทยก้าวเข้าสู่สังคมคนแก่เร็วกว่าประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนประมาณ 20 ปี
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดผลกระทบสำคัญในระบบสุขภาพ เช่น ผลกระทบต่อภาระรายจ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 25,315 ล้านบาทในปี 2523 เป็น 434,974 ล้านบาทในปี 2548 หรือเพิ่มขึ้น 17.2 เท่าในช่วง 25 ปี และคาดการณ์ของสำนักเศรษฐกิจการคลังถึงปี 2562 ภาระทางการคลังจะเพิ่มขึ้น เป็นสัดส่วน 7.4 - 7.8 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ผศ.เรณู กล่าวว่า ประเด็นความท้าทายของระบบสุขภาพในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์นั้น คือ จำนวนบุคลากรและสถานพยาบาลดูแลผู้สูงอายุที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องดำเนินการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล เพื่อพร้อมที่จะรับมือกับผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ด้วยการผลักดันการผลิตพยาบาลเพิ่มทั้งในเชิงปริมาณเพื่อเพิ่มจำนวนพยาบาลและสร้างกำลังผลิตให้เพียงพอ และความพยายามที่จะคงพยาบาลไว้ในระบบให้ได้นานที่สุดมากที่สุดควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ก็พยายามผลักดันเพื่อให้มีทางออกใหม่ๆ อาทิ การเพิ่มจำนวน ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง หรือ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกที่เรียกว่า APN (Advanced Practice Nurse)
ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของ APN ที่ได้ถูกเตรียมมาให้เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญการพยาบาลจะช่วยเพิ่มคุณภาพการดูแลและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ช่วยลดภาระแพทย์ ลดภาระรายจ่ายภาครัฐ และค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยเองได้ด้วย ทั้งนี้ APN ในแต่ละสาขาจะสามารถรองรับการแก้ปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนของผู้ป่วยที่เกินความสามารถของพยาบาลวิชาชีพระดับทั่วไปจะทำได้ ปัจจุบันสภาการพยาบาลได้กำหนดให้มี APN 8 สาขา ได้แก่ สาขาการพยาบาลเด็ก สาขาการพยาบาลอายุรศาสตร์-ศัลยศาสตร์ สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ สาขาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต สาขาผดุงครรภ์ สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน สาขาการพยาบาลโรคติดเชื้อ และสาขาการพยาบาลผู้ได้รับยาระงับความรู้สึก (วิสัญญี)
คณะผู้บริหารโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี
โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี มีนโยบายให้ความสำคัญกับการตอบโจทย์การพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ พัฒนาระบบสุขภาพเพื่อรองรับการมาถึงของสังคมไทยในอนาคต นโยบายคู่ขนาน ในการผลิตพยาบาล โดยให้ความสำคัญทั้ง
1) การเพิ่มผลิตพยาบาลวิชาชีพทั่วไป ในระดับปริญญาตรี ปัจจุบันเป็นปีละ 250 คน เพื่อรองรับความต้องการพยาบาลทั่วไปที่ยังขาดแคลนอยู่ โดยให้มีความรู้ความสามารถที่จะดูแลสุขภาพผู้สูงอายุได้ด้วย
และ 2) การเปิดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุในระดับปริญญาโท
เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศ และที่สำคัญได้เปิดการฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตรซึ่งเป็นการฝึกอบรมหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางการพยาบาล เพื่อพัฒนาเป็นผู้เชี่ยวชาญการพยาบาลในสาขาต่างๆ ซึ่งรวมถึงแขนงการพยาบาลผู้สูงอายุด้วย ซึ่งมีทั้งการพยาบาลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลและที่บ้านหรือในชุมชน ทั้งนี้เพราะปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุมีความซับซ้อนจากอวัยวะที่เสื่อมหน้าที่ หรือเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ซึ่งอาจมีปัญหากระทบหลายอวัยวะหลายระบบ ประกอบกับการดูแลตนเองของผู้สูงอายุก็ทำได้น้อยลง เหล่านี้ล้วนต้องการ APN ที่เชี่ยวชาญการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
“โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ถือว่าเป็นโรงเรียนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านคลินิก หรือที่เรียกว่า มี DNA ที่ “เก่งคลินิก” เป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีความพร้อมและสามารถเปิดหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญทางการพยาบาลในสาขาการพยาบาลอายุรศาสตร์-ศัลยศาสตร์ ซึ่งมีแขนงการพยาบาลผู้สูงอายุรวมอยู่ด้วย สาขาการพยาบาลเด็ก และสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ด้วยมีความพร้อมของครูพยาบาลที่เก่งคลินิก (มีวุฒิบัตรรับรองวิทยะฐานะ) อาจารย์แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา และการมี APN ที่เก่งทางคลินิกจากฝ่ายการพยาบาลรามาธิบดีร่วมเป็นครูพี่เลี้ยง (Preceptor) ในการฝึกอบรมด้วย และจากการที่ปัจจุบันยังมีสถาบันการศึกษาพยาบาลน้อยมากที่วางแผนจะเปิดการฝึกอบรมเพื่อสร้างพยาบาลกลุ่มนี้ได้ จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีจำเป็นต้องตอบโจทย์เรื่องนี้ให้ได้อย่างชัดเจนต่อสังคม”
ในส่วนของหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตรนั้น เป็นหลักสูตรสำหรับพยาบาลผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกในสาขาการพยาบาลต่างๆ พัฒนาขึ้นมา ฝึกอบรม 3 ปี หลังจบปริญญาโททางการพยาบาล โดยโครงสร้างของหลักสูตรคล้ายกับโครงสร้างหลักสูตรปริญญาเอกทางการปฏิบัติการพยาบาล (Doctor of Nursing Practice: DNP) ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีได้นำหลักสูตรนี้มาจัดฝึกอบรมร่วมกับฝ่ายการพยาบาลรามาธิบดี ในลักษณะการฝึกอบรมเป็นแบบ Residency Training Program คล้ายการฝึกอบรมของแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1, 2, และ 3 การเรียนและการฝึกปฏิบัติดำเนินการที่หอผู้ป่วยหรือในชุมชนเป็นส่วนใหญ่เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในการพยาบาลสาขานั้นๆ ขณะนี้ทำการฝึกอบรมนับเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว และมีผู้เข้ารับฝึกอบรมเฉลี่ยประมาณ 10 คนต่อปี
สำหรับการผลิตพยาบาลวิชาชีพทั่วไปในระดับปริญญาตรี ขณะนี้กำลังวางรากฐานปรับหลักสูตรใหม่เพื่อใช้ในปีการศึกษา 2560 ที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยมุ่งเน้นความเป็นสากลด้วยการพัฒนาทักษะทางการพยาบาลที่ต้องการในศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของการดูแล มุ่งเน้นความปลอดภัยของผู้ป่วย การพัฒนาภาวะผู้นำและการทำงานอย่างมืออาชีพ มีการจัดการเรียนการสอนรูปแบบต่างๆ นอกห้องเรียน มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและมีการจัดการเรียนการสอนร่วมกันกับวิชาชีพอื่นๆ (Inter-Professional Education: IPE) ทั้งนี้เพื่อสร้างบัณฑิตพยาบาลให้เก่งคิด เก่งปฏิบัติ โดยคิดและทำงานอย่างเป็นระบบ เก่งในการพัฒนาตนเอง พัฒนาการดูแลผู้ป่วย และเก่งในการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือทำงานเป็นทีม
โดยการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1 และ 2 จะเรียนวิชาพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และวิชาแกนจะอยู่ที่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีที่ศาลายาเป็นหลัก เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 และ 4 นักศึกษาจะมีโอกาสขึ้นฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วยตามการพยาบาลในสาขาต่างๆ ทั้งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พญาไท และที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี บางพลี) ซึ่งจะเริ่มทำการเปิดบริการในปลายปี 2560 และจำนวนการผลิตจะค่อยๆ เพิ่มถึง 350 คน ต่อรุ่นในอีก 10 ปีข้างหน้า
“นอกจากการจัดการศึกษาพยาบาลภาคปกติในประเทศในระดับต่างๆ ดังกล่าวแล้ว โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดียังมุ่งเน้นความเป็นสากล โดยการจัดให้มีนักเรียนแลกเปลี่ยนกับนานาชาติ อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน แคนาดา สวีเดน เดนมาร์ก มีหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกนานาชาติ และได้วางแผนที่จะเปิดหลักสูตรปริญญาตรีนานาชาติในเวลาอันใกล้นี้” ผศ.เรณู กล่าว
- 77 views