นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : การเชื่อมโยงกันในภูมิภาคอาเซียน ความสนใจของผู้ให้บริการด้านการแพทย์ที่มองไทยเป็นฮับด้านการรักษาพยาบาลจากตัวเลขของกลุ่มธุรกิจ Hospitality ที่เติบโตไม่หยุด
อีกทั้งศักยภาพการลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาลไทยที่สยายปีกลงทุนและเปิดให้บริการสุขภาพในต่างประเทศ เหล่านี้ในมุมหนึ่งมองเป็น "โอกาส" ทั้งระดับเจ้าของธุรกิจ และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในแขนงนี้
ขณะที่ในมิติการบริหารทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะในสาขาพยาบาลพบว่า การผลิตยังไล่ตามความต้องการใช้บริการอยู่มาก
และนับวันตัวเลขขาดแคลนสะสมจะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สถาบันที่เปิดสอนคณะพยาบาลศาสตร์ในไทยมีด้วยกันหลายแห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธรรมศาสตร์,มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยพายัพ, มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น
แต่การผลิตก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งระบบ โดยมีการประเมินว่า การขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพในไทย มีมากกว่า 30,000 คน
ปัญหาที่พบซึ่งส่งผลต่อตัวเลขที่ลดลงของพยาบาลวิชาชีพก็คือ ค่าตอบแทนและสวัสดิการน้อยเมื่อเทียบกับภาระงาน และไม่เท่าเทียมกับวิชาชีพอื่น ความเครียดจากภาระงานที่เพิ่มขึ้น เกิดภาวะกดดันจากการทำงาน และการเติบโตในสายอาชีพ เป็นต้น
จากสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว ผศ.เรณู พุกบุญมี ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยังสะท้อนให้เห็นถึงอีกหนึ่งปัญหาที่สังคมไทยต้องเผชิญในระยะ 10 ข้างหน้านั่นคือ สังคมผู้สูงอายุ
"ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาความท้าทาย และภัยคุกคามด้านสุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ และการประมาณการค่าใช้จ่ายของรัฐบาล"
จากตัวเลขที่ประเมินถึงประชากรทั้งประเทศ 64.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 9.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.5 ของประชากร เป็นผู้สูงอายุนอนติดบ้านติดเตียงที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงกว่า 1 ล้านคน
นอกจากนี้ 5 ปัญหาด้านสุขภาวะในผู้สูงอายุ ที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง 41.4% ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน 37.4% โรคเบาหวาน 18.2% โรคซึมเศร้า 13.4% และโรคข้อเข่าเสื่อม 8.6%
จากการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์"
สังคมที่กล่าวถึง คือ ผู้สูงอายุจะมีมากถึง 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากร หรือในทุก 5 คนของประชากรจะมีผู้สูงอายุ 1 คน
ซึ่งสิ่งที่ต้องเผชิญต่อจากนี้สะท้อนให้เห็นว่า ผลกระทบต่อภาระรายจ่ายภาครัฐจะเพิ่มขึ้นจาก 25,315 ล้านบาทในปี 2523 เป็น 434,974 ล้านบาทในปี 2548 หรือเพิ่มขึ้น 17.2 เท่าในช่วง 25 ปี
โดยมีการคาดการณ์ของสำนักเศรษฐกิจการคลังที่ว่าถึงปี 2562 ภาระทางการคลังจะเพิ่มขึ้น เป็นสัดส่วน 7.4 - 7.8 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
"เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ต้องเร่งผลักดันการผลิตพยาบาลเพิ่มทั้งในเชิงปริมาณเพื่อเพิ่มจำนวนพยาบาล และสร้างกำลังผลิตให้เพียงพอ อีกทั้งต้องรักษาพยาบาลไว้ในระบบให้ได้นานที่สุดและมากที่สุดควบคู่กันไป"
หนึ่งในแนวทางก็คือ การเพิ่มจำนวนผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง หรือ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกที่เรียกว่า APN (Advanced Practice Nurse)
ก้าวสำคัญของโรงเรียนพยาบาลรามาฯ อยู่ที่เป้าหมายการเพิ่มการผลิตพยาบาลวิชาชีพทั่วไปชดเชยการขาดแคลน ควบคู่ไปกับการพัฒนาพยาบาลวิชาชีพขั้นสูงระดับวุฒิบัตรหรือผู้เชี่ยวชาญทางคลินิก (APN)
3 แนวทางที่วางไว้ คือ
หนึ่ง การเพิ่มผลิตพยาบาลวิชาชีพทั่วไป ในระดับปริญญาตรี ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตได้ปีละ 250 คน
สอง การเปิดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุในระดับปริญญาโท
สาม การฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร ซึ่งเป็นการฝึกอบรมหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางการพยาบาล
"เพื่อพัฒนาเป็นผู้เชี่ยวชาญการพยาบาลในสาขาต่างๆ ซึ่งรวมถึงแขนงการพยาบาลผู้สูงอายุ เพื่อตอบโจทย์ของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศรองรับการมาถึงของสังคมไทยในอนาคต"
ปัจจุบันทางโรงเรียนฯ มีความพร้อม และสามารถเปิดหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญทางการพยาบาลในสาขาการพยาบาลอายุรศาสตร์-ศัลยศาสตร์ ซึ่งมีแขนงการพยาบาลผู้สูงอายุรวมอยู่ด้วย
นอกจากนี้ยังมี สาขาการพยาบาลเด็ก และสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ด้วยมีความพร้อมของครูพยาบาลที่เก่งคลินิก (มีวุฒิบัตรรับรองวิทยฐานะ)
ในส่วนของหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตรนั้น โดยโครงสร้างของหลักสูตรคล้ายกับโครงสร้างหลักสูตรปริญญาเอกทางการปฏิบัติการพยาบาล ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีได้นำหลักสูตรนี้มาจัดฝึกอบรมร่วมกับฝ่ายการพยาบาลรามาธิบดี ในลักษณะการฝึกอบรมเป็นแบบ Residency Training Program คล้ายการฝึกอบรมของแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1, 2, และ 3 การเรียนและการฝึกปฏิบัติดำเนินการที่หอผู้ป่วยหรือในชุมชนเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในการพยาบาลสาขานั้นๆ
ปัจจุบันดำเนินการฝึกอบรมเป็นรุ่นที่ 3 แล้วโดยมีผู้เข้ารับฝึกอบรมประมาณ 10 คนต่อปี ทั้งนี้อยู่ระหว่างการผลิตพยาบาลวิชาชีพทั่วไปในระดับปริญญาตรี โดยจะทำการปรับหลักสูตรใหม่เพื่อใช้ในปีการศึกษา 2560 คาดหวังถึงการสร้างบัณฑิตพยาบาลให้เก่งคิด เก่งปฏิบัติ โดยคิดและทำงานอย่างเป็นระบบ เก่งในการพัฒนาตนเอง พัฒนาการดูแลผู้ป่วย และเก่งในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
"หลักสูตรที่ปรับใหม่จะมุ่งเน้นความเป็นสากลด้วยการพัฒนาทักษะทางการพยาบาลที่ต้องการในศตวรรษที่ 21 เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของการดูแล เน้นความปลอดภัยของผู้ป่วย การพัฒนาภาวะผู้นำและการทำงานอย่างมืออาชีพโดยจัดการเรียนการสอนรูปแบบต่างๆ นอกห้องเรียน การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและมีการจัดการเรียนการสอนร่วมกันกับวิชาชีพอื่นๆ"
การเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1 และ 2 จะเรียนวิชาพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และวิชาแกนจะอยู่ที่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีที่ศาลายา
เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 และ 4 นักศึกษาจะมีโอกาสขึ้นฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วยตามการพยาบาลในสาขาต่างๆ ทั้งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พญาไท และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี บางพลี) ซึ่งจะเริ่มทำการเปิดบริการในปลายปี 2560
มุ่งหวังว่าผลิตได้ 350 คน ต่อรุ่นในอีก 10 ปีข้างหน้า พร้อมกับแผนก้าวสู่สากลด้วยการวางแผนที่จะเปิดหลักสูตรปริญญาตรีนานาชาติในอนาคต เพื่อรองรับสถานการณ์ทางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง
โจทย์ใหญ่ที่แท้ทายสำหรับสถาบันที่ผลิต "พยาบาล" ออกสู่ระบบ คือการผลิตบุคลากรให้ออกมาทำภารกิจ ทั้งเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลผู้ป่วย ลดภาระแพทย์ ลดภาระรายจ่ายภาครัฐ และเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วย รวมถึงผู้สูงอายุที่จะพุ่งกว่า 14 ล้านคนในอนาคตอันใกล้
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559
- 229 views