คอลัมน์ “สุขศาลาวิชาการ” ในนิตยสารสุขศาลา ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2551 โดยผู้เขียน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และประชาทิป กะทา ได้นำเสนอแนวคิดปรัชญาว่าด้วยเรื่องสุขภาพปฐมภูมิซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของบริการปฐมภูมิและงานสุขภาพชุมชนไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ
ระบบการดูแลสุขภาพปฐมภูมิหรือ primary care ถูกกล่าวถึงในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบบริการสุขภาพเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพปฐมภูมิสำหรับผู้เขียนนั้นยังขาดการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งรอบด้าน โดยเฉพาะด้านที่ไม่ถูกกล่าวถึงมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-based) การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic care) การดูแลที่ต่อเนื่องและผสมผสาน (Integrated and Continuity of Care) รวมทั้งการทำงานเชิงรุก ส่งผลให้ไม่สามารถแปรเป็นแนวทางสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้
แม้ว่านิยามระบบการดูแลสุขภาพปฐมภูมิทั้งในประเทศและระดับสากลจะแตกต่างกันไป เนื่องจากระบบการดูแลสุขภาพปฐมภูมิมีหลากหลายมิติและมุมมอง แต่นิยามของระบบการดูแลสุขภาพปฐมภูมิที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงซึ่งนับว่าครอบคลุมมิติต่างๆ นั้น หมายถึง
“ระบบที่จัดบริการสุขภาพในระดับที่เป็นด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุข ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องร่วมกับประชาชน โดยประยุกต์ความรู้ทั้งทางด้านการแพทย์ จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ในลักษณะผสมผสานการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาโรค และการฟื้นฟูสภาพได้อย่างต่อเนื่องด้วยแนวคิดแบบองค์รวมให้แก่บุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยมีระบบการส่งต่อและเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งประสานกับองค์กรชุมชนในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาความรู้ของประชาชนในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของตน และสามารถดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยได้อย่างสมดุล”
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การให้ความหมายของการดูแลสุขภาพปฐมภูมินั้น อาจเน้นเป็นบางด้านหรือให้ความสำคัญกับบางแง่มุม ที่สอดคล้องกับบริบทของระบบบริการและปัญหาสุขภาพที่ต้องการแก้ไข
ลักษณะเด่นของการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ ได้แก่
1) เน้นการดูแลแบบองค์รวม คือ ใส่ใจกับชีวิตและความสุขความทุกข์ของคน มากกว่าการดูแลแบบแยกปัญหาสุขภาพออกจากชีวิตของคน หรือมองปัญหาเฉพาะที่อวัยวะเป็นส่วนๆ
2) เน้นการทำงานเชิงรุก คือ มุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่แรกเริ่มมากกว่ารอให้เกิดโรค ความเจ็บป่วยหรือความทุกข์ลุกลามแล้วค่อยหาทางแก้ไข
3) เน้นการผสมผสานงานส่งเสริม/ป้องกัน/รักษา/ฟื้นฟู ควบคู่กระบวนการทำงานร่วมกับองค์กรและกลไกต่างๆ ในพื้นที่
4) เน้นการดูแลต่อเนื่องตลอดชีวิต มากกว่าเน้นการรักษาเป็นครั้งๆ โดยให้ความสำคัญกับประสบการณ์ด้านสุขภาพตลอดอายุขัยของบุคคลที่ส่งผลต่อชีวิตและการดูแลรักษาความเจ็บป่วยของเขา
5) ทำงานเชื่อมโยงหลายระดับ ทั้งระดับบุคคล/ครอบครัว/ชุมชน เพราะปัญหาแต่ละระดับส่งผลถึงกัน การแก้ปัญหาจึงต้องดำเนินควบคู่กันไปทุกระดับ
6) ทำงานเชื่อมโยงหลายมิติทั้งด้านกาย/ใจ/สังคม/จิตวิญญาณ เพื่อให้ทุกมิติเกื้อกูลส่งเสริมกันจนเกิดสุขภาวะได้อย่างมีดุลยภาพ
7) ทำงานเชื่อมโยงกับบริการทางการแพทย์หลายระดับ โดยช่วยเอื้ออำนวยและประสานให้ผู้ป่วยใช้บริการทางการแพทย์ระดับอื่นๆ ได้อย่างสะดวกราบรื่น
8) ใช้ระบบการแพทย์ที่หลากหลายในชุมชน ทั้งการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และวิถีสุขภาพทางเลือกอื่นๆ มาผสมผสานเพื่อให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อสุขภาพ
9) เน้นการเสริมสร้างระบบสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็งและพึ่งตนเองได้
กล่าวได้ว่า การดูแลสุขภาพปฐมภูมินั้นเป็นศิลปะชั้นสูงของการดูแลรักษาสุขภาพ เพราะต้องผสมผสานทั้งศาสตร์ทางการแพทย์เข้ากับความรู้ทางสังคมและศิลปะการเข้าใจมนุษย์ เป็นงานที่ต้องใส่ใจสุขภาพในหลายมิติ ทั้งทางกาย ใจ สังคม และมิติทางจิตวิญาณ
การดูแลสุขภาพปฐมภูมิจึงนับว่ามีศักยภาพและเอกลักษณ์ที่เป็นจุดแข็งของตนเอง เพราะแม้จะไม่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูงเทียบเท่ากับโรงพยาบาลใหญ่ๆ และไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่สิ่งที่การดูแลสุขภาพปฐมภูมิมีมากกว่าการบริการระดับอื่น ก็คือบริการที่เป็นมิตร ใกล้ชิดและเข้าใจชุมชน สามารถทำงานร่วมกับครอบครัวและชุมชน เพื่อสร้างสุขภาพและแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยที่ซับซ้อนได้ ด้วยความรู้ทางการแพทย์ที่ผสมผสานกับความเข้าใจทางสังคมและความใส่ใจในความเป็นมนุษย์
เก็บความจาก
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ประชาทิป กะทา, “ปรัชญาสุขภาพปฐมภูมิ” ใน นิตยสารสุขศาลา ปีที่ 1 ฉบับที่1 มกราคม-มีนาคม 2551,หน้า 42-47
- 3091 views