สธ. และ สปสช. ลงนามรายละเอียดความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับ JICA ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านหลักประกันสุขภาพระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในการพัฒนาบุคลากรและให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 ณ วังจักรพงษ์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ น.ส.คาเอะ ยานางิซาวา (Ms. Kae Yanagisawa) รองประธาน JICA ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามรายละเอียดความร่วมมือทางวิชาการไทย-ญี่ปุ่น ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสุขภาพโลก (The Partnership Project for Global Health and Universal Health Coverage) ระหว่าง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้แทนฝ่ายไทย และ นายชูอิชิ อิเคดะ (Mr. Shuichi Ikeda) ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย
โดยมี เป้าหมายหลัก 3 ประการได้แก่ 1) การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพของไทย เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างยั่งยืนในประเทศไทย 2) การพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อส่งเสริมความสำเร็จในการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าร่วมโครงการ และ 3) การเผยแพร่ประสบการณ์ดำเนินงานด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวทีนานาชาติ โดยมี สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับ หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภายใต้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ซึ่งจะมีระยะเวลาการดำเนินงานรวม 4 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณนี้เป็นต้นไป
ในพิธีลงนามดังกล่าว ผู้แทนฝ่ายไทยโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธรณสุข ได้กล่าวต้อนรับคณะผู้แทนจาก JICA ถึงความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงมากยิ่งขึ้น จากการลงนามความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ JICA ในวันนี้ ความมุ่งมั่นในการส่งเสริมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นที่นำโดยท่านนายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะ นั้นมีมากพอ ๆ กับความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่นำโดย พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และด้วยต้นทุนทางสังคมและทางปัญญาของทั้งสองประเทศ จากประสบการณ์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 50 ปีของประเทศญี่ปุ่น และกว่า 10 ปีของประเทศไทย จะเป็นประสบการณ์ที่สำคัญในการช่วยผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืนไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่ในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติ ซึ่งมีเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระหนึ่งที่สำคัญ
จากนั้นผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่นโดย น.ส.คาเอะ ยานางิซาวา (Ms. Kae Yanagisawa) รองประธาน JICA กล่าวถึงโครงการความร่วมมือทางวิชาการไทย – ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือในรูปแบบของหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันระหว่างทั้งสองประเทศ และสามารถลงนามรายละเอียดความร่วมมืออย่างเป็นทางการในวันนี้ได้ ต้องอาศัยกระบวนการหารือและความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่างทีมผู้บริหารและนักวิชาการของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรับรองความสำเร็จของการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติมาโดยตลอด และในระดับภูมิภาคอาเซียนนี้ ไทยมีจุดแข็งที่โดดเด่นเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าที่มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง และได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นแบบของนานาประเทศที่สามารถทำให้ประชาชนทุกคนบรรลุการมีหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าและสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีความจำเป็นได้ โดยไม่มีกำแพงค่าใช้จ่ายสำหรับค่าบริการสุขภาพ และความสำเร็จนี้ได้นำไปสู่ความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นเป็นแกนนำพัฒนาระบบการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้าสู่ปีที่ 14 ของการดำเนินงานนับตั้งแต่การมีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี พ.ศ. 2545 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขยายความครอบคลุมและการปกป้องการล้มละลายจากความเจ็บป่วยของครัวเรือนนั้น แม้ว่าในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมาคุณภาพและประสิทธิภาพของบริการจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีช่องโอกาสพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอีก การลงนามข้อหารือความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ประเทศไทยจะได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 50 ปีของประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาเสริมสร้างประสิทธิภาพและความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับญี่ปุ่น
- 22 views