ประกาศผลไปแล้วสำหรับผู้ที่ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558 ซึ่งมีผู้เข้ารับพระราชทานทุนทั้งหมด 5 คน 1 ใน 5 คนนั้นคือ ศีลวันต์ สถิตย์รัตนชีวิน นิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับงานที่สนใจด้านการเตรียมความพร้อมและการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอย่างเป็นองค์รวมในช่วงสุดท้ายของชีวิต โดยเฉพาะการพัฒนาวิธีประเมินอาการปวด สำหรับผู้ป่วยวิกฤตที่ไม่สามารถสื่อสารได้
ศีลวันต์ สถิตย์รัตนชีวิน
ศีลวันต์ หรือ ตั้ว กล่าวว่า ในช่วงที่เรียนที่โรงเรียนมหิดลฯ มีความสนใจด้านเศรษฐศาสตร์ และด้วยความที่บ้านมีฐานะปานกลาง ทำให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งเรื่องของการกระจายตัวของทรัพยากร ทำให้คิดว่าถ้าเรามีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ รู้ระบบเรื่องการเงิน แต่เมื่อเรียนเศรษฐศาสตร์ก็พบว่า เป็นการเรียนเรื่องการวิเคราะห์คู่ขนานมากกว่าการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ซึ่งตนมองว่า ถ้าหากต้องการความเปลี่ยนแปลงในระบบแล้ว การเรียนแพทย์จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและชีวิตได้เช่นกัน โดยเฉพาะในอนาคตที่ประเทศไทยเราจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่เราในฐานะแพทย์ต้องกลับมาคิดว่า เราจะทำอย่างไรให้ผู้สูงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ระบบการรักษาผู้สูงอายุที่มีราคาที่เหมาะสม ซึ่งหากเรามีการวางระบบที่เหมาะสมแล้ว เราจะมีการกระจายทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม
“ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมองว่าการเรียนแพทย์สามารถช่วยวางระบบทางเศรษฐกิจที่ดีได้อีกทางหนึ่ง เพราะหากคนเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี เจ็บป่วยน้อยลง การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นเช่นกัน”
ศีลวันต์ กล่าวว่า จากความสนใจด้านการเตรียมความพร้อมและการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอย่างเป็นองค์รวมในช่วงสุดท้ายของชีวิต โดยเฉพาะการพัฒนาวิธีประเมินอาการปวด สำหรับผู้ป่วยวิกฤตที่ไม่สามารถสื่อสารได้นั้น ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือ
1.เรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนวาระสุดท้าย
2.การเรียนของแพทย์ที่อยู่ในบทบาทสำคัญของการดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤต
โดยที่ตนเองมองว่า ในช่วงชีวิตของมนุษย์สิ่งที่มีค่ามากที่สุด คือ เวลาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่ง คือ เวลาในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ถ้าเราสามารถดูแลผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมกับระยะของโรคและตรงตามความต้องการของตนเอง ทำให้สามารถใช้เวลาช่วงสุดท้ายได้อย่างมีความหมายและมีความสุขได้จนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
ในทางพุทธศาสนาสอนว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนต้องเจอ และเรื่องของความตายเป็นเรื่องที่สำคัญต่อตัวผู้ป่วยและญาติมาก แพทย์ต้องสื่อสารให้ผู้ป่วยหรือญาติเข้าใจ เช่น คนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายซึ่งผู้ป่วยจะต้องเสียชีวิตอย่างแน่นอน แต่เราจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยได้ไปอย่างสงบ ซึ่งหากเป็นผู้ป่วยที่สามารถสื่อสารได้ ผู้ป่วยจะสามารถจัดการเรื่องส่วนตัวได้ และมีความสุขกับวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ในทางตรงกันข้ามผู้ป่วยวิกฤตที่ไม่สามารถสื่อสารได้ แพทย์จะต้องเป็นผู้สื่อสารกับญาติ หรือครอบครัว ถึงระยะของโรค แนวทางการรักษา และด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถช่วยยืดชีวิตของผู้ป่วยออกไปได้ เช่น การยื้อชีวิตด้วยการใช้ยาขั้นสูง หรือด้วยเครื่องมือต่างๆ แต่การยื้อชีวิตของผู้ป่วยวิกฤตไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่า ผู้ป่วยวิกฤตนั้นจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่
ศีลวันต์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่า ในวงการแพทย์ประเทศไทยยังขาดการเตรียมความพร้อมที่ดีในเรื่องวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นเรื่องที่แพทย์จะต้องศึกษากันอย่างต่อเนื่อง ต้องรู้เรื่องของชีวิตกับการรักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และจะต้องเรียนรู้เรื่องการเลือกตายอย่างสงบ
ทั้งนี้แพทย์ ญาติ และผู้ป่วย รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์จะต้องเรียนรู้เรื่องดังกล่าว ในการรักษาผู้ป่วยวิกฤตที่ดี คือ การลดภาวะแทรกซ้อนจากโรค ที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นการดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิต (Palliative Care) ประกอบด้วย การวางแผนการรักษาล่วงหน้า การจัดการตัวโรค การดูแลด้านจิตใจ สังคม และการควบคุมบรรเทาอาการ
ส่วนขั้นตอนที่สำคัญ คือ การประเมินอาการ ปัจจุบันวิธีการประเมินอาการที่ดีที่สุดและเป็นที่ยอมรับคือ การให้ผู้ป่วยเป็นผู้บอกอาการของตนเอง ว่าขณะนี้มีอาการอย่างไร แต่สำหรับผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถสื่อสารได้ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อม เด็กหรือคนต่างชาติ การประเมินอาการให้มีความถูกต้องจึงเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ไม่สามารถควบคุมและบรรเทาอาการอย่างเหมาะสมในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาวิธีประเมินอาการปวดสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถสื่อสารได้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบรรเทาอาการที่มีประสิทธิภาพจนสามารถจากไปอย่างสงบได้ในวาระสุดท้ายของชีวิต
“เรื่องวาระสุดท้ายของชีวิต อาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ โดยเฉพาะเรื่องของความกตัญญู ที่ลูกหลานมีให้ต่อผู้ป่วย”
นอกจากนี้ ศีลวันต์ ยังมองว่า คนในปัจจุบันละเลยการดูแลสุขภาพของตนเองน้อยลง ไม่ดูแลตัวเองมากขึ้น โดยจะให้แพทย์เป็นผู้ดูแล ตนอยากให้ประชาชนคนไทยรักตัวเอง ดูแลสุขภาพตนเอง โดยมีแพทย์เป็นผู้ดูแลเมื่อเจ็บป่วย ซึ่งทุกวันนี้เวลามีคนป่วยแพทย์จะแนะนำให้ดูแลตนเอง ทั้งเรื่องการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหาร แต่คนผู้ป่วยเมื่อกลับบ้านไปก็จะใช้วิถีชีวิตแบบเดิม
ทั้งนี้หากคนในประเทศเจ็บป่วยมากขึ้น จะส่งผลกระทบในภาพรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าวันนี้ประเทศไทยมีกลุ่มการรักษาสิทธิต่างๆ คนไทยโชคดีที่สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นระบบที่มีความยุติธรรม มีความเท่าเทียมกัน แต่หากคนไทยละเลยที่จะดูแลสุขภาพของตนเอง จะทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้น ส่งผลกระทบในภาพรวมแพทย์จะต้องทำงานหนักมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงขึ้น ระบบประกันสุขภาพล้มเหลวลง ซึ่งหากรอให้ถึงวันนั้นแล้ว คงจะไม่มีใครกล้าที่จัดตั้งระบบสุขภาพเพื่อคนไทยอีก
- 140 views