ทีมไทยเจ๋ง พัฒนาโครงการ “ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการคัดกรองวัณโรค” และได้รับคัดเลือกไปนำเสนอในงานประชุม IDWeek ซึ่งเป็นงานประชุมโรคติดเชื้อระดับโลกที่ เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็วๆนี้ เผยประสิทธิภาพแม่นยำเพราะใช้ฐานข้อมูลหลากหลาย ไม่ซ้ำซ้อนกับงานของรังสีแพทย์ ตั้งเป้าใช้งานได้จริงปี 2562 ต้นทุนคัดกรองครั้งละไม่เกิน 1 บาท
ผศ.ดร.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์
ผศ.ดร.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ มูลนิธิปัญญาประดิษฐ์ไทยเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข (Thai Health AI Foundation) เปิดเผยว่า โครงการปัญญาประดิษฐ์เพื่อการคัดกรองวัณโรค ซึ่งพัฒนาโดยมูลนิธิฯ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รับคัดเลือกให้ไปนำเสนอในงาน IDWeek 2018 ซึ่งเป็นการประชุมของแพทย์ทางด้านโรคติดเชื้อระดับโลก ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 3-7 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา
ผศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อการคัดกรองวัณโรคที่ได้รับเลือกให้ไปนำเสนอครั้งนี้ เป็นผลงานของทีมที่ประกอบด้วย ตนเองในฐานะหัวหน้าทีม ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน และ เคยเป็นผู้แทนเยาวชนไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก นายพนาสันต์ สุนันต๊ะ ซึ่งเคยได้รับเหรียญทองคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่อง AI และ นพ.ศีลวันต์ สถิตย์รัตนชีวิน นักเรียนทุนสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ซึ่งมีประสบการณ์คัดกรองวัณโรคในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้พัฒนาโครงการนี้ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกให้ต่างจาก AI คัดกรองวัณโรครายอื่นๆ กล่าวคือ AI ส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลฟิล์มเอกซเรย์สำหรับประมวลผลอย่างเดียว แต่ AI ที่มูลนิธิฯพัฒนาขึ้นนี้จะใช้ข้อมูลทั้งจากข้อมูลฟิล์มเอกซเรย์ ผลการเพาะเชื้อ ผลการตรวจพันธุกรรมของเชื้อ ตลอดจนอาการของคนไข้ ซึ่งข้อมูลที่หลากหลายเหล่านี้จะทำให้ AI ฉลาด ช่วยให้ตรวจพบผู้ที่มีอาการโรคเพียงเล็กน้อยได้แม่นยำมากกว่า AI ที่ป้อนข้อมูลแค่ฟิล์มเอกซเรย์อย่างเดียว
“วัณโรคไม่เหมือนมะเร็ง ถ้ามะเร็งก็คือมาดูว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่ก็จบ แต่สำหรับวัณโรคนั้น เราจะอ้างอิงเทียบกับผลอ่านฟิล์มของรังสีแพทย์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะบางคนมีเชื้อแต่เอกซเรย์แสดงความผิดปกติที่เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แม้จะอ่านโดยรังสีแพทย์ที่มีประสบการณ์ แล้วไปเจอในการตรวจพันธุกรรม เพราะฉะนั้นการพัฒนาโดยใช้แค่ข้อมูลจากเอกซเรย์แล้วเทียบกับผลอ่านของรังสีแพทย์อย่างเดียวจึงใช้ไม่ได้ในการปฏิบัติ เป็นเหตุผลที่แม้จะมีระบบค้นหาวัณโรคที่ทำเป็นเชิงการค้าอยู่บ้างในปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากองค์กรอนามัยโลก” ผศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าว
นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายที่จะนำ AI ไปใช้ก็ต่างจากผู้พัฒนารายอื่นๆ กล่าวคือ ถ้าใช้เพียงผลเอกซเรย์ของคนไข้ในโรงพยาบาลมาสอนระบบ AI ก็มักมีข้อมูลของผู้ป่วยที่เป็นเยอะและมีอาการมากแล้ว ซึ่งซ้ำซ้อนกับงานรังสีแพทย์ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ไม่ว่า AI จะอ่านผลออกมาอย่างไร สุดท้ายก็ต้องให้รังสีแพทย์เป็นผู้คอนเฟิร์มอยู่ดี ในขณะที่ต้นทุนในการจ้างรังสีแพทย์ก็ถูกกว่า ไม่จำเป็นต้องเอา AI เข้ามาทดแทน ขณะที่ AI ที่มูลนิธิฯพัฒนาขึ้นมานี้ จะเน้นคัดกรองกลุ่มเป้าหมายที่เข้าไม่ถึงรังสีแพทย์ เบื้องต้นเน้นที่ 3 กลุ่มหลักคือคนขับแท็กซี่ กลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ และกลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทย
“อย่างคนขับแท็กซี่ บางทีเราไม่รู้ว่าเขามีเชื้อวัณโรคหรือไม่ แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้ผู้โดยสารติดเชื้อ เราคงไม่สามารถเอารังสีแพทย์มานั่งอ่านผลเอกซเรย์ของคนขับแท็กซี่ตามสหกรณ์แท็กซี่ หรือในกลุ่มผู้ต้องขัง มีคนเป็นวัณโรคเยอะเลยและเราไม่สามารถพาออกจากเรือนจำมาเอกซเรย์ได้ รวมทั้งคนต่างด้าวเข้าเมืองหรือแรงงานต่างด้าวในโรงงานต่างๆ กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงรังสีแพทย์ได้ยาก เราจึงเน้นเอาเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยงานได้” ผศ.ดร.นพ.กฤษณ์
ผศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการพัฒนา AI ในขณะนี้ได้พัฒนา Prototype ตัวแรกเสร็จและได้รับเลือกให้ไปนำเสนอที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังเป็นส่วนของซอฟต์แวร์เพียงอย่างเดียว การพัฒนาที่กำลังดำเนินการอยู่ คือ ความร่วมมือกับสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลของหลายๆ กลุ่มประชากร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ต้องขัง ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้วในจังหวัดแรก คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถนำไปทดลองใช้งานจริงในเรือนจำอื่นๆต่อไป
ทั้งนี้ เป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาโครงการนี้ ทีมพัฒนาต้องการให้เป็นอุปกรณ์ที่มีทั้งส่วนรับข้อมูล ส่วนประมวลผลและส่วนแสดงผลไว้ในเครื่องเดียวกัน เมื่อเดินผ่านแล้วสามารถตรวจจับได้เลยว่ามีความเสี่ยงเป็นวัณโรคหรือไม่ อีกทั้งสามารถประเมินความเสี่ยงตามอาชีพ เช่น หากบอกว่ามีอาชีพขับแท็กซี่จะมีโอกาสเป็นวัณโรคกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นผู้ต้องขังโอกาสกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะไม่เหมือนกันเนื่องจากข้อมูลที่เอามาสอน AI เป็นคนละกลุ่ม และเมื่อตรวจคัดกรองเสร็จแล้วก็จะมีแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับบริบทในขั้นตอนต่อไป เช่น ต้องไปพบรังสีแพทย์เพื่อวินิจฉัยหรือไม่ หรือต้องเริ่มการตรวจเสมหะหรือไม่ ไม่ใช่แค่คัดกรองแล้วจบเลย ที่สำคัญคือทีมงานตั้งเป้าให้ใช้ต้นทุนในการคัดกรองครั้งละไม่เกิน 1 บาท เพื่อให้เครื่องมือนี้สามารถใช้งานได้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น
- 86 views