เครือข่ายหมออนามัยเตรียมยื่นข้อเสนอปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิให้ สปช. 25 ก.พ.นี้ เน้นเพิ่มสัดส่วนงบ "สร้างนำซ่อม" พร้อมยืนยันจุดยืนไม่ต้องการโอนย้ายไปสังกัด อปท. เสนอจัดงบพิเศษเพิ่มเติมนอกเหนือจากงบรายหัวในพื้นที่ชายแดน และ 3 จว.ชายแดนใต้ เสนอตั้งกรมปฐมภูมิ
การประชุมปฏิรูประบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ ซึ่งมีตัวแทนสาธารณสุขอำเภอ และตัวแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) เข้าร่วมกว่า 500 คน วันที่ 24 ก.พ. มีการหารือรูปแบบปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในหลายประเด็น และเตรียมยื่นข้อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในวันที่ 25 ก.พ. นี้ พร้อมยืนยันจุดยืนไม่ต้องการโอนย้าย รพ.สต. ไปสังกัดอยู่กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
นายปรเมษฐ์ จินา ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอให้จัดสรรงบเพิ่มเติม สำหรับการให้บริการในพื้นที่ชายแดน พื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกเหนือจากงบเหมาจ่ายรายหัวปกติ พร้อมพัฒนาเขตสุขภาพของสธ. แบ่งตามรูปแบบเขตของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ทำงานควบคู่กัน
นอกจากนี้ ยังเสนอเรื่องการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิ ทั้ง รพ.สต. ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง (ศสม.) และคลีนิคอุ่นใจ โดยจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวในลักษณะ "สร้างนำซ่อม" ให้มากกว่าการรักษาที่ปลายเหตุ โดยปัจจุบัน สัดส่วนงบประมาณในลักษณะสร้างนำซ่อมมีเพียง 13% เท่านั้น
ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้ปรับโครงสร้าง สธ. โดยให้มีการจัดตั้งหน่วยงานระดับกรมเพิ่มอีก 1 กรม เพื่อดูแลพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิโดยเฉพาะ
นายปรเมษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังมีข้อเสนอให้ สปช. เร่งผลักดันการออกกฎหมายลูกของ พ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 เพราะกระบวนการจัดทำกฎหมายลูกในปัจจุบันยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการศึกษารูปแบบความสัมพันธ์ของหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการระบบสุขภาพระดับตำบล ภายใต้แผนงานการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ ซึ่งศึกษาโดย ดร.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการโอนย้าย รพ.สต. ไปสังกัด อปท. ในหลายประเด็น อาทิ เรื่องระบบการส่งต่อที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนว่าจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอย่างไร และระบบการเบิกจ่ายเงินจะเป็นอย่างไร รวมทั้งข้อกังวลในการพิจารณาโยกย้ายบุคคลากร เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้มีการนำเสนอผลการจัดทำแบบสอบถามตัวแทนสาธารณสุขอำเภอ และตัวแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) กว่า 400 แห่งทั่วประเทศ พบว่าทั้งหมดยืนยันจุดยืนว่าไม่ต้องการโอนย้ายสังกัด อปท.
นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า เตรียมนำข้อเสนอจากที่ประชุมครั้งนี้ยื่นให้แก่ สปช. ในวันที่ 25 ก.พ. เวลา 8.00 น. หลังจากนั้นจะไปยื่นให้ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. แต่ยังอยู่ระหว่างกำหนดเวลานัดหมายกัน หลังจากนี้จึงจะดูท่าทีของสปช.ว่าจะเป็นอย่างไร แล้วจึงจะกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวอีกครั้ง
สำหรับกรณีการแสดงป้ายให้กำลังใจ รมว.สธ. และปลัดสธ. โดยมีข้อความว่า “พวกเราสนับสนุนคนดี มือสะอาด” “จงร่วมยืนหยัดเพื่อสุขภาพคนไทย ขอเป็นกำลังใจให้กับท่าน”
นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า หมออนามัยให้กำลังใจทั้ง รมว.สธ. และปลัดสธ. ถือเป็นคนดีและคนเก่งทั้งคู่ แต่อาจจะเติบโตมาคนละสายงาน จึงทำให้การทำงานยังไม่ลงตัว และไม่เข้าใจกัน ซึ่งในฐานะบุคลากรของสธ. ก็อยากให้ทั้ง 2 ท่านทำงานร่วมกันโดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่อยากให้มีปัญหาขัดแย้งกัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานในพื้นที่ สถานีอนามัยหรือรพ.สต.ยังคงทำงานตามนโยบายหมอครอบครัวของรมว.สธ. และเขตสุขภาพของปลัดสธ.อย่างเต็มที่
ด้านนายสาคร นาต๊ะ นายกสมาคมหมออนามัย กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการดำเนินงานของ รพ.สต. 50 แห่งที่สมัครใจโอนย้ายไปสังกัด อปท. พบว่าระบบการจัดการยังไม่ขาดออกจาก สธ. เสียทีเดียว ยังคงต้องพึ่งพิงงบเหมาจ่ายรายหัวจาก สธ. อยู่ ยกเว้นเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อาคารสำนักงานต่างๆ ที่อาจคล่องตัวขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ อปท.ที่สังกัดอยู่ด้วยว่ามีงบประมาณมากแค่ไหน
"การสำรวจความเห็นของสมาชิกพบว่าน่าจะทุกพื้นที่ยืนยันไม่อยากถ่ายโอนไปสังกัด อปท. แต่ก็ไม่คัดค้านในเรื่องการกระจายอำนาจเช่นกัน ซึ่งรูปแบบการกระจายอำนาจมีหลายแนวทาง อาจจะเน้นเรื่องการทำงานร่วมกันกับท้องถิ่นให้มากขึ้นก็ได้ หรือถ้า รพ.สต.และอปท.ในพื้นที่ไหนพร้อม ก็อาจโอนย้ายได้ตามความสมัครใจ"นายสาคร กล่าว
ขอบคุณภาพจาก www.manager.co.th
- 12 views