สบส.ส่งทีมกฎหมายเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงโรงพยาบาลเอกชนย่านพหลโยธิน จ่ายยาให้ผู้ป่วยผิดคน เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย เร่งให้เสร็จภายใน 3 วัน และเชิญทั้ง 2 ฝ่ายให้ข้อมูลต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการเรื่องร้องเรียนสถานพยาบาลพิจารณาตัดสิน หากพบมีความผิด จะดำเนินการลงโทษทั้งผู้ดำเนินการสถานพยาบาล โทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และผู้ประกอบวิชาชีพโดยเฉพาะเภสัชกรห้องยา จะส่งสภาวิชาชีพดำเนินการด้วย
จากกรณีญาติผู้ป่วยรายหนึ่ง ยืนหนังสือร้องเรียนถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งอยู่ที่ย่านพหลโยธินจ่ายยารักษาให้มารดาที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 3 วัน จากอาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย โดยแพทย์ระบุสาเหตุป่วยว่าพักผ่อนไม่เพียงพอ และให้ยากลับกลับไปกินต่อที่บ้าน รวม 9 ตัว ในจำนวนนี้ 2 ตัวเป็นยาของคนป่วยอื่น ใช้รักษาเกี่ยวกับโรคเลือดและยาต่อมไร้ท่อและความดัน โดยผู้ป่วยกินไปแล้ว 1 ครั้ง นั้น
ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วานนี้ (21 ม.ค.) สบส.ได้ส่งทีมกฎหมายลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โรงพยาบาลเอกชนตามที่มีผู้ร้องเรียน ว่าได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 หรือไม่ ทั้งด้านสถานที่ บุคลากรผู้ประกอบวิชาชีพ และการให้บริการ สรุปผลแล้วเสร็จภายใน 3 วัน จากนั้นจะนำข้อเท็จจริงเข้าที่ประชุมของคณะอนุกรรมการร้องเรียนสถานพยาบาล เพื่อเรียกทั้ง 2 ฝ่ายมาชี้แจงข้อมูลเพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย หากพบว่ามีมูลความจริง อาจเข้าข่ายในเรื่องมาตรฐานบริการสถานพยาบาล ผู้บริหารสถานพยาบาลจะต้องรับผิดชอบ ส่วนผู้ดำเนินการจ่ายยา เช่น เภสัชกร สบส.จะส่งให้สภาวิชาชีพเภสัชกรรมดำเนินการด้านมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมด้วย
ทั้งนี้บทลงโทษกรณีสถานพยาบาลไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานบริการ ที่ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ยาแต่ละชนิดมีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน หากใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือใช้โดยไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เกิดโรคอื่นแทรกซ้อนและทำให้เกิดอันตรายได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยาและได้ผลดีในการรักษาอาการเจ็บป่วย มีหลักการ 5 วิธี ที่ปฏิบัติเป็นมาตรฐานสากลดังนี้
1. ใช้ให้ถูกโรค คือ ใช้ยาให้ตรงกับโรคที่เป็น หากใช้ยาไม่ถูกกับโรคอาจทำให้ได้รับอันตรายจากยานั้นได้ หรือไม่ได้ผลในการรักษา และยังอาจเกิดโรคอื่นแทรกซ้อนได้ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะทั้งที่โรคที่เป็นไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อเลย ซึ่งทำให้เชื้อโรคเกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะได้ในภายหลัง
2. ใช้ยาให้ถูกกับคนป่วยชื่อบนซองยาต้องตรงกับผู้ป่วย
3. ใช้ยาให้ถูกเวลา เช่นยาก่อนอาหาร ต้องรับประทานยาก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ถึงหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาถูกดูดซึมได้ดี ส่วนยาหลังอาหารอาจรับประทานหลังรับประทานอาหารทันทีหรือหลังประมาณ 15 - 30 นาที
4. ใช้ยาให้ถูกขนาดตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ จึงจะให้ผลดีในการรักษา
และ 5. ใช้ยาให้ถูกวิธี เช่นกรณีเป็นยาที่ใช้ภายนอกเช่น ขี้ผึ้ง ครีม ให้ใช้ทาบางๆ เฉพาะบริเวณที่เป็นหรือบริเวณที่มีอาการ กรณียาที่ใช้ภายในเช่นยากิน ยาบางชนิดอาจเคี้ยวก่อนรับประทานเช่นยาเม็ดลดกรดและยาขับลม เพื่อให้เม็ดยาแตกเป็นชิ้นเล็ก จะได้มีผิวสัมผัสกับกรดหรือฟองอากาศในกระเพาะอาหารได้มากขึ้น เป็นต้น
หากกินยาแล้ว มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีผื่นคันตามตัว มีจ้ำที่ผิวหนัง หน้ามืด แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือใจสั่น ให้หยุดยา และไปปรึกษาแพทย์ทันที ทพ.อาคมกล่าว
- 659 views