กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งเสริมโรงพยาบาลรัฐ-เอกชนทั่วประเทศให้ผ่านการรับรองคุณภาพ และมาตรฐานในระดับนานาชาติ เอชเอหรือเจซีไอ ในปี 2559 นี้เน้นหนักดำเนินการโรงพยาบาลเอกชน 172 แห่ง ในพื้นที่ 15 จังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำประเทศและพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง กทม. เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ชลบุรี ตราด สงขลา มีศูนย์ล่ามภาษา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับการแพทย์ของไทยให้เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติอันดับ 1 ของโลก ดึงดูดต่างประเทศใช้บริการ คาดไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านครั้ง
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้วางระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพในการเป็นประชาคมอาเซียนตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นไป ซึ่งประชากรในประเทศสมาชิกกว่า 637 ล้านคน อาจมีการเดินทางเข้ามาประเทศไทย ทั้งในด้านการใช้แรงงาน การท่องเที่ยว หรือประกอบธุรกิจต่างๆ กันมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา
จึงได้วางแผนความพร้อมโดยเร่งให้การสนับสนุนและพัฒนาโรงพยาบาลรัฐและเอกชนให้ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองมาตรฐานที่สากลยอมรับคือ เอชเอ (HA : Hospital Accreditation) หรือ เจซีไอ (JCI : The Joint Commission International) อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อสร้างชื่อเสียงให้ไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนาชาชาติอันดับ 1 ของโลก สนองนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต และไม่มีผลกระทบต่อคนไทย
มั่นใจว่ามีความเป็นไปสูงมาก เนื่องจากเป็นการขยายจุดแข็งความสำเร็จด้านคุณภาพมาตรฐานของประเทศในปี 2557 ที่มีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เดินทางมาใช้บริการ 1.2 ล้านครั้ง มากเป็นอันดับ 1 ของโลก และโรงพยาบาลเอกชนของไทยยังได้รับการโหวตให้อยู่อันดับ 1 ใน 10 ของโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลก
นพ.บุญเรือง กล่าวว่า เป้าหมายหลักในปีนี้ สบส. เน้นหนักส่งเสริมพัฒนาโรงพยาบาลเอกชนที่ตั้งอยู่ใน 2 แหล่งเศรษฐกิจสำคัญประเทศ ให้ได้รับการรับรองคุณภาพเอชเอหรือเจซีไอ ซึ่งคาดว่าจะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาจำนวนมากขึ้น ได้แก่ 10 จังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำประเทศ คือ กรุงเทพมหานครฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ พระนครศรีอยุธยา พังงา และประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 163 แห่ง ซึ่งขณะนี้ได้รับการรับรองไปแล้ว 65 แห่ง ยังเหลือ 98 แห่ง ปีนี้จะให้ผ่านการรับรองร้อยละ 50
และแหล่งที่ 2 คือในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด คือ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา ตราด ซึ่งมีโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง ได้รับการรับรองแล้ว 4 แห่ง เหลืออีก 5 แห่ง ปีนี้มีเป้าหมายพัฒนาให้ผ่านการรับรองร้อยละ 30 และในปีแรกนี้จะจัดตั้งศูนย์ล่ามแปลภาษาใน 2 พื้นที่นี้ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกต่างชาติ เบื้องต้น อาจเป็นอาหรับ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม พม่า ต่อไปจะขยายศูนย์ล่ามตามแหล่งท่องเที่ยว
ทั้งนี้ในภาพรวมการพัฒนาในรอบ 10 กว่าปี ไทยมีโรงพยาบาลทั้งรัฐเอกชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเอชเอ และเจซีไอแล้ว 97 แห่ง ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในอาเซียน โดยอยู่ใน กทม. 45 แห่ง และต่างจังหวัด 52 แห่ง มั่นใจว่ายอดผู้ใช้บริการในปี 2559 จะไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านครั้งอย่างแน่นอน
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทางการแพทย์ในระดับประชาคมอาเซียน สบส.ได้สนับสนุนให้โรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียน 344 แห่ง ให้ใช้ใบยินยอมให้การรักษา (Inform consent) และใบรับเรื่องร้องเรียน ในรูปแบบภาษาอังกฤษ ภาษาพม่า ภาษาลาว และภาษากัมพูชา การจัดบริการตรวจสุขภาพให้แก่แรงงานต่างด้าว ตามมาตรฐานวิชาการที่กำหนดเพื่อให้สามารถกลั่นกรองโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในโรงพยาบาลเอกชน ให้มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ และภาษาเพื่อนบ้านด้วย
สนับสนุนเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลเอกชนให้ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล และให้โรงพยาบาลเอกชนมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายในการจัดเก็บข้อมูลการระบาดของโรคด้วย เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมป้องกันโรคของประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนได้ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพของตนเองเป็นอย่าง
- 57 views