เดอะคอนเวอร์เซชั่น : องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยรายงานประเมินคุณภาพบริการสาธารณสุขของประเทศออสเตรเลีย ข่าวดีคือ ออสเตรเลียรั้งอันดับ 6 ด้านเกณฑ์อายุคาดเฉลี่ยสูงสุดในกลุ่มชาติสมาชิก OECD ด้วยอายุขัยเฉลี่ยของประชากรที่ 82.2 ปี และยังมีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำสุดเป็นอันดับที่ 4 (12.8%) ทั้งอัตราตายจากโรคหัวใจก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่ม OECD
แต่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่าออสเตรเลียมีสัดส่วนประชากรภาวะอ้วนสูงสุดเป็นอันดับ 5 ด้วยอัตราร้อยละ 28.3 จากประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
ซ้ำร้ายเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่บริหารด้วยระบบสหพันธรัฐแล้วยังพบว่าระบบสาธารณสุขของออสเตรเลียมีกลไกที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง
การขีดเส้นแบ่งความรับผิดชอบระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นทำให้ระบบสาธารณสุขไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสร้างความยุ่งยากต่อผู้ป่วย
ขณะที่การแบ่งประเภทการดูแลรักษาระหว่าง “บริการสาธารณสุขปฐมภูมิ” และ “บริการสาธารณสุขชุมชน” ส่งผลให้การประสานงานด้านการดูแลรักษายิ่งทวีซับซ้อนขึ้นไปอีก จนอาจนำไปสู่ปัญหาบริการทับซ้อนกันและข้อบกพร่องในการประสานงาน
จากข้อมูลที่ยกมาจึงไม่น่าแปลกที่ OECD ชี้ให้เห็นความยุ่งเหยิงในระบบสาธารณสุขของออสเตรเลียซึ่งก่อตัวมายาวนาน และยิ่งถลำลึกด้วยแรงผลักดันจากการเมือง แทนที่จะคำนึงถึงประสิทธิภาพหรือคุณภาพ และเป็นที่น่าเสียดายว่าความพยายามในการแบ่งเบาปัญหาดังกล่าวที่ผ่านมายังคงไม่เพียงพอ
ดังที่รายงานของโออีซีดีระบุว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบสาธารณสุขนอกเหนือจากงานศัลยกรรมนั้น “เชื่องช้าและน่าผิดหวัง” ซึ่งปัญหาด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารในระบบสาธารณสุขออสเตรเลียนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่รายงานชี้ว่า นำไปสู่ข้อบกพร่องด้านข้อมูลคุณภาพการดูแลรักษาและผลลัพธ์ด้านผู้ป่วย โดยเฉพาะในบริการปฐมภูมิ
ภาพวาดโรงพยาบาลเด็กในเมืองเพิร์ธ ออสเตรเลีย ภาพจาก Department of Health WA
แก้ไขจุดบกพร่อง
ปัญหาบางข้อที่รายงานได้เน้นย้ำอาจแก้ไขได้ไม่ยากนัก ดังเช่นการนำหมายเลขประจำตัวผู้รับบริการสาธารณสุขมาใช้ ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลบริการสาธารณสุขมีความแม่นยำและเชื่อมโยงกันทั้งระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอาจเร่งรัดให้เร็วขึ้นได้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายโดยกำหนดให้เป็นระเบียบภาคบังคับ
อย่างไรก็ดียังคงมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการนำหมายเลขประจำตัวผู้รับบริการสาธารณสุขมาใช้ เนื่องจากตัวระบบสาธารณสุขที่ซับซ้อนของออสเตรเลียอาจทำให้การอ้างอิงตามชื่อ ที่อยู่ และวันเกิดของผู้ป่วยเสี่ยงต่อความผิดพลาด
การปรับปรุงเทคโนโลยีข้อมูลทั้งระบบสาธารณสุขก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ยากแก่การแก้ไข โดยอุปสรรคใหญ่นั้นอยู่ที่ตัวเลขงบประมาณมหาศาลและศักยภาพการบริหารจัดการของระบบสาธารณสุข ซึ่งยังคงไม่เพียงพอสำหรับการขับเคลื่อนงานบริการได้อย่างเต็มที่
ปัญหาใหญ่คือไร้ข้อมูล
ปัญหาการขาดแคลนข้อมูลซึ่งฉุดรั้งคุณภาพและสมรรถนะของระบบสาธารณสุขออสเตรเลียยังทำให้ยากต่อการประเมินผลอย่างแม่นยำ โดยเห็นแล้วว่าปัญหาขาดแคลนข้อมูลส่งผลกระทบทั้งต่อรัฐบาลออสเตรเลียและ OECD ดังที่ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ OECD ใช้ล้วนเป็นข้อมูลล้าสมัยจากปี 2556 และเป็นสาเหตุให้เกิดความคลาดเคลื่อนในรายงาน ตัวอย่างเช่น รายงานของ OECD ได้อ้างถึงงานวิจัย Diabetes Care Project ว่า อาจเป็นรากฐานสำหรับการประสานบริการสาธารณสุข ขณะที่ผลลัพธ์ของโครงการดังกล่าวชี้ว่าไม่ได้ช่วยให้เกิดผลดีขึ้นแต่ประการใด
ออสเตรเลียตกเป็นที่วิจารณ์จากรายงานตัวเลขอัตราการรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่สูงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ OECD แต่อีกด้านหนึ่งอัตราการรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคเบาหวาน กลับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ซึ่งทำให้ยากต่อการสรุปอย่างชัดเจนโดยอาศัยจากข้อมูลโรคทางเดินหายใจ
นอกจากนี้รูปแบบของโรคทางเดินหายใจก็ไม่สัมพันธ์กับข้อมูลการสูบบุหรี่ของญี่ปุ่น ซึ่งมีประชากรชายสูบบุหรี่เป็นจำนวนมากแต่กลับมีอัตราการรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังต่ำที่สุด และอาจเป็นได้ว่าข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นความแตกต่างด้านเวชปฏิบัติระหว่างแต่ละประเทศมากกว่าการประเมินผลตามจริง
หรือใช่ว่ามีปัญหา
โดยสรุปจากรายงานชี้ให้เห็นว่า ระบบสาธารณสุขของออสเตรเลียนั้นซับซ้อน ขาดการรวบรวมและนำข้อมูลสาธารณสุขมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังล้าหลังประเทศอื่นในด้านการใช้เทคโนโลยี แต่ถึงกระนั้นออสเตรเลียก็มีอายุคาดเฉลี่ยของประชากรที่ยืนยาวและบริการสาธารณสุขทั่วไปก็มีคุณภาพสูง แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างดังที่รายงานได้ระบุไว้
อย่างไรก็ดีจำเป็นต้องตระหนักว่ายังคงขาดข้อมูลจริงซึ่งจะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในระดับบุคคลได้อย่างชัดเจน ดังที่แม้รายงานได้ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องด้านข้อมูล แต่ตัวรายงานเองก็ประสบปัญหาด้านข้อมูลและทำให้การวิเคราะห์โดยรวมคลาดเคลื่อน
การขาดข้อมูลที่มีคุณภาพยังส่งผลกระทบต่อการทำนายทิศทางของระบบสาธารณสุขของออสเตรเลียว่าจะดำเนินไปในทางที่ดีขึ้น ย่ำอยู่ที่เดิม หรือดิ่งลงในอนาคตอันใกล้ ตลอดจนเป็นอุปสรรคต่อการกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
เกี่ยวกับผู้เขียน
เดวิด เกลนซ์ ผู้อำนวยการ UWA Centre for Software Practice, University of Western Australia
ขอบคุณที่มา : The Conversation
- 120 views