“หมอปิยะสกล” ร่วมประชุม “การจ้างงานด้านสุขภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ” จัดโดย WHO, OECD และ ILO ณ นครเจนีวา หารือเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยหลากหลายวิชาชีพ การจ้างงานในภาคสาธารณสุข (Health employment) จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมประชุม “การจ้างงานด้านสุขภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ” (Health employment and economic growth) จัดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ณ สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 14 – 15 ธันวาคม 2559 เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยหลากหลายวิชาชีพ การจ้างงานในภาคสาธารณสุข (Health employment) จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก
นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับกำลังคนด้านสุขภาพ ขอย้ำว่า “หากจะพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ต้องพัฒนาคน” โดยกระทรวงสาธารณสุข เน้น 2 มาตรการหลักคือ การรักษาบุคลากรทางสุขภาพให้อยู่ในชนบทหรือพื้นที่ขาดแคลน และการพัฒนาการศึกษาของบุคลากรด้านสุขภาพ ให้ความสำคัญกับบุคลากรทางสุขภาพทุกวิชาชีพ เพราะต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเป็นทีม เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยและประชาชน
รวมทั้งได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการปฏิรูประบบการศึกษาด้านสุขภาพ ทั้งด้านหลักสูตร และเน้นให้มีกระบวนการเรียนรู้จริง ให้สามารถทำงานตามบริบทของพื้นที่ ร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยการทำงานด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ด้วยความรักและศรัทธาที่มนุษย์พึงมีแก่กัน
ภายหลังการประชุม นพ.ปิยะสกลได้ร่วมหารือกับนายสเตฟาโน สคาร์เพตตา ผู้อำนวยการด้านการจ้างงาน แรงงาน และกิจการสังคม องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มารวมตัวกัน เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาคมโลก ทั้งนี้ OECD มีแผนจะขยายงานสู่เอเชีย เน้นการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านงบประมาณและด้านสุขภาพในประเด็นความยั่งยืนของการคลังด้านสุขภาพ รวมทั้งสนใจขอให้ประเทศไทยสนับสนุนการทำงานในเครือข่ายความยั่งยืนการคลังสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย
“ในฐานะที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพียงร้อยละ 4.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ไม่สูง ทำให้มีความยั่งยืนของการคลังสุขภาพ นอกจากนี้ นโยบายที่รัฐเป็นผู้ลงทุนหลักด้านสุขภาพ ทำให้สามารถลดการล้มละลายทางการเงินของประชาชนจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้อย่างดี และป้องกันความยากจนด้วย ทาง OECD จึงสนใจที่จะนำประสบการณ์ของไทยไปแบ่งปันกับประเทศอื่นๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะมีความร่วมมือในการร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป” นพ.ปิยะสกลกล่าว
- 3 views