“ทพ.อดิเรก” กรรมการทันตแพทยสภา ชี้ระบบรักษาทันตกรรมสิทธิ์ ขรก.เป็นการรักษาปลายเหตุ มีงบเท่าไหร่ก็ไม่พอ หากไม่ป้องกันไว้ก่อน เผยแต่ละปีมี ขรก.รักษาทันตกรรม 6-7 ล้านครั้ง ครึ่งหนึ่งฟันผุ-เหงือกอักเสบ หากไม่มีการติดเชื้อที่รากฟันก็ไม่มารักษา อีก 20% ต้องรักษาประสาทฟัน รากฟัน ทดแทนฟัน หวั่นงบบานปลายพุ่งไม่หยุด ทำระบบพัง แนะจัดโปรแกรมให้ ขรก.ตรวจฟัน รักษาแต่เนิ่นๆ ระบุทดลองทำร่วมกับบริษัทเอกชนได้ผลดี ลดการสูญเสียฟัน ลดค่าใช้จ่ายได้ครึ่งหนึ่ง

“การมีฟันธรรมชาติของตัวเองอยู่ในปาก...เป็นบุญเหลือเกิน”

นี่คือคำพูดของ ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา กรรมการทันตแพทยสภา และนายกสำรองทันตแพทยสมาคม ที่เกริ่นกับ Hfocus ก่อนจะเสนอไอเดียการปรับระบบส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปาก โดยเน้นหนักไปที่สิทธิสวัสดิการข้าราชการ

ทพ.อดิเรก ชี้ว่าปัญหาโรคในช่องปากก็เหมือนโรคผิวหนัง นั่นก็คือหากคอยดูแลให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ ก็จะไม่เจ็บป่วยอะไร

อย่างไรก็ตาม หากมองไปที่สิทธิสวัสดิการข้าราชการในเรื่องการรักษาฟัน ทพ.อดิเรก วิจารณ์ว่า ข้าราชการจำนวนมากยังมองว่าฟันของตัวเองเป็นของหลวง

กรรมการทันตแพทยสภา อธิบายว่า การที่กรมบัญชีกลางได้กำหนดสวัสดิการการรักษาช่องปากครอบคลุมรายการหัตถการมากที่สุด เมื่อเทียบกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและประกันสังคม ทำให้ข้าราชการหลายคนไม่ได้ดูแลฟันของตัวเองให้ดี เพราะคิดว่าถึงเวลาเจ็บป่วยมา ก็มีคนมาดูแลให้ สามารถใช้สิทธิในการรักษาได้ แต่ลืมไปว่ามีบางรายการที่ไม่ครอบคลุมด้วยเช่นกัน

ทพ.อดิเรก ให้ข้อมูลว่า แต่ละปีมีข้าราชการเจ็บป่วยในช่องปากประมาณ 6-7 ล้านครั้ง โดยไปรับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ 50% แต่อีก 50% เลือกที่จะไปรักษากับคลินิกเอกชน ส่วนใหญ่มีอาการฟันผุและเหงือกอักเสบประมาณ 40-50% ของจำนวนผู้ป่วย และในกลุ่มนี้ แม้จะฟันผุแต่ถ้าไม่มีการติดเชื้อที่รากฟันก็มักจะไม่มาหาหมอกัน อีกทั้งยังมีอีก 20% ที่ต้องรักษาประสาทฟัน รักษารากฟัน รวมทั้งการทดแทนฟัน ดังนั้น ระบบในตอนนี้เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ถึงจะมีงบกี่บาทก็ไม่พอถ้าไม่ป้องกันรักษาไว้ก่อน การมารักษาที่ปลายเหตุจะทำให้ระบบพังหมด

ทพ.อดิเรก ยังวิจารณ์อีกว่า การรักษาฟันของข้าราชการ ยังเป็นการเบียดเบียนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพทางอ้อม เพราะทำให้คิว 1 คิวของหลักประกันสุขภาพไม่ได้รับการรักษา และอัตราเบิกจ่ายของกรมบัญชีกลางยังต่ำกว่าต้นทุน สุดท้ายโรงพยาบาลก็มาเอาเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพไปถัวเฉลี่ยค่ารักษาส่วนเกิน

“คือทางโรงพยาบาลมองว่าการรักษาข้าราชการเป็นรายได้เสริมนอกจากเงินของระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ต้นทุนที่กรมบัญชีกลางจ่ายมันต่ำกว่าต้นทุน ยกตัวอย่างเช่น การอุดฟัน กรมบัญชีกลางจ่าย 200 บาท/ซี่ 1.คือเสียแอร์ไทม์ของสิทธิ UC และ 2.ต้นทุนจริงอาจจะ 300-400 บาท โรงพยาบาลก็ต้องเอาเงินของหลักประกันสุขภาพมาถัวๆ ตรงนี้ เป็นการจ่ายโดยอ้อม เราจะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลเอกชนคิดค่าอุดฟันสูงกว่า หรือแม้โรงพยาบาลรัฐใหญ่ๆ ที่บริหารอย่างอิสระ ค่ารักษาก็พอๆ กับเอกชน ทำไมเป็นแบบนี้ ก็เพราะต้นทุนจริงๆ มันเป็นอย่างนี้ ดังนั้นถ้าคิดด้วยระบบบัญชีจริงๆ แล้วโรงพยาบาลขาดทุน” ทพ.อดิเรก กล่าว

ด้วยเหตุนี้ ทพ.อดิเรก จึงเสนอแนวคิดให้จัดระบบการดูแลฟันของข้าราชการตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน

“แนวคิดใหม่ก็คือการตรวจสุขภาพฟันตั้งแต่เนิ่นๆ และรักษาดูแลอย่างสม่ำสมอ พอเริ่มเข้าเป็นข้าราชการก็จัดทำฟิล์มแรกของช่องปากไว้เลย แล้วเก็บข้อมูลในระบบออนไลน์ ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นคนเก็บก็ได้ ปัจจุบันฟิล์มคุณภาพดีขึ้นมาก เห็นภาพชัดและเก็บไว้ได้นาน ถึงข้าราชการจะย้ายไปทำงานที่ไหนก็ดึงฟิล์มจากฐานข้อมูลได้อยู่แล้ว” นายกสำรองทันตแพทยสมาคม กล่าว

จากนั้น เมื่อจัดทำประวัติช่องปากเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องจัดโปรแกรมให้ตรวจสุขภาพและรักษาฟันอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีการตรวจ-ดูแล-รักษาแต่เนิ่นๆ แล้ว ก็ไม่ควรจะมีข้าราชการป่วยเป็นโรคเหงือก ฟันผุติดเชื้อเฉียบพลันอีก แต่หากดูแลดีแล้วแต่ยังป่วยอยู่ ก็จ่ายค่ารักษาตามปกติ แต่หากไม่มีการดูแลแล้วป่วยขึ้นมา ก็ควรให้ข้าราชการคนนั้นจ่ายเงินเองหรือกรมบัญชีกลางอาจอุดหนุนในอัตราที่น้อยกว่าปกติเช่นกัน

ทพ.อดิเรก กล่าวว่า ตนเคยทำโครงการลักษณะนี้ร่วมกับบริษัทเอกชนบางแห่งเมื่อหลายปีก่อน ปรากฏว่าได้ผลออกมาน่าพอใจ ในช่วง 1-3 ปีแรกมีการตรวจและรักษาฟันอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นก็แทบไม่มีการเจ็บป่วยรุนแรงอีก

นอกจากนี้ หากพิจารณาตัวเลขของคนรุ่นใหม่ จะพบว่าเด็กอายุ 14-15 ปี มีกว่า 30-40% ที่ไม่มีฟันผุเลย เป็นตัวเลขที่สูงพอๆ กับยุโรปและอเมริกา สะท้อนให้เห็นว่าหากมีการให้ความรู้ความเข้าใจในการดูแลฟัน ก็ลดการเจ็บป่วยได้มาก เป็นหลักคิดที่นำมาใช้กับข้าราชการได้ อีกทั้งจะช่วยลดการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่จะตามมาได้อีก

“ถ้าระบบดูแลทันตกรรมของข้าราชการเปลี่ยนแนวคิดมาเป็นการส่งเสริมป้องกัน ข้าราชการก็ต้องดูแลฟันอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาสิทธิ สุดท้ายค่าใช้จ่ายในการทำทันตกรรมของกรมบัญชีกลางจะลดลงไปมาก และเป็นการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เงินเท่าเดิมแต่รักษาได้เยอะขึ้น ไม่ต้องมานั่งปวดหัวว่าค่าหัตถการนี้ๆ จะต้องจ่ายกี่บาท” ทพ.อดิเรก กล่าว

กรรมการทันตแพทยสภา ย้ำอีกว่า โรคในช่องปากเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ หากดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่า ข้าราชการไทยกว่า 80% จะมีเหงือกและฟันที่แข็งแรงไปตลอดชีวิต ไม่ต้องเป็นภาระแก่ตัวเองและของราชการ และคาดว่าในระยะ 7-10 ปี ค่าใช้จ่ายทันตกรรมของกรมบัญชีกลางจะลดลงกว่า 50% เลยทีเดียว จะเหลือก็แต่เพียงค่าใช้จ่ายในการตรวจประจำปีเท่านั้น

“อาจจะมีการเจ็บป่วยรุนแรงหลุดมาบ้าง แต่โดยรวมเราจะลดการเจ็บป่วยได้เยอะ แต่ช่วงเริ่มต้นทางโรงพยาบาลและกรมบัญชีกลางต้องเปลี่ยนแนวคิด” กรรมการทันตแพทยสภา กล่าว

นอกจากนี้ ทพ.อดิเรก ยังเสนอด้วยว่าจากตัวเลขข้างต้น ข้าราชการมีสัดส่วนการใช้บริการภาคเอกชนสูงมากคือ 50% ของจำนวนผู้ป่วย หรือ 30% ของจำนวนข้าราชการทั้งหมด ดังนั้นจึงเสนอให้ดึงภาคเอกชน คลินิกเอกชนมาเข้าระบบการดูแลแบบนี้ด้วย

“ข้าราชการเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ ซึ่งสิทธิทันตกรรมอาจดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ผมคิดว่าเป็นขวัญและกำลังใจคนทำงาน และที่สำคัญมันเป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้ ระบบนี้จะช่วยให้เขาทำงานได้เต็มที่โดยไม่มีเรื่องให้ต้องกวนใจ และเมื่อเกษียณมาก็มีร่างกายที่แข็งแรง พร้อมเดินหน้าสู่อนาคตต่อไป” ทพ.อดิเรก กล่าว