ทันตแพทยสมาคมฯ ออกประกาศคู่มือทำฟัน สื่อสารสร้างความเชื่อมั่นผู้ป่วย ระบุหากอาการฉุกเฉินอย่าทนทรมาน ย้ำกระบวนรักษาฟันได้มาตรฐาน ไม่เสี่ยงติดโควิด-19 พร้อมยกระดับคำแนะนำ แนวปฏิบัติที่ปลอดภัยแก่ “หมอฟัน” และทีมงาน ลดความเสี่ยงผู้รับการรักษา ทันตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์
ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกสำรองทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงประกาศ “แนวทางการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อทางทันตกรรม ในสถานการณ์ COVID-19” ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 ระบุว่า วัตถุประสงค์การออกประกาศในครั้งนี้ ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ต้องการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน รวมทั้งทันตแพทย์ทั่วประเทศ จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดทำ "แนวทางการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อทางทันตกรรมในสถานการณ์ COVID-19" ซึ่งประกอบด้วยทันตแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ, ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และทันตกรรม เป็นที่ปรึกษา โดยจะมีการปรับปรุงแนวทางให้เหมาะสมกับสถานการณ์เป็นระยะ
ทั้งนี้ในส่วนของการสื่อสารสร้างความเข้าใจไปยังประชาชนนั้น เพื่อยืนยันว่ากระบวนการทำฟันมีความปลอดภัยสูง ทั้งต่อตัวผู้ป่วยที่มารับบริการ และต่อทีมทันตแพทย์และบุคลากรเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยหลายคน ไม่กล้าเข้ารับการรักษาเพราะกลัวติดโรค ทั้งที่มีอาการปวดบวมและทรมาน ดังนั้น ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย จึงจัดทำประกาศดังกล่าวขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมทั้งยกระดับคำแนะนำและข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง สำหรับทีมทันตแพทย์ในระหว่างให้การรักษา
ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทันตแพทย์ ยังไม่มีหลักฐานปรากฎว่ามีผู้ติดเชื้อจากการทำฟัน ทั้งในฝั่งของคนไข้และทันตแพทย์ แต่เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงที่มีการระบาดหนัก การทำฟันจึงเน้นเฉพาะเคสผู้ป่วยที่มีอาการฉุกเฉินต้องทำการรักษาทันที ซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์ หลังจากตรวจสอบอาการในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการรักษาฟัน อาจก่อให้เกิดการการละอองฝอยฟุ้งกระจาย หลายคนจึงกลัวว่าจะเพิ่มความเสี่ยง ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า การใช้เครื่องดูดแรงดันสูงใกล้จุดกำเนิดละอองฝอย ช่วยลดการฟุ้งกระจายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเครื่องมือและอุปกรณ์ทุกชิ้น ก็ผ่านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อในเครื่องอัดแรงดันสูงอย่างดี ปราศจากเชื้อเช่นเดียวกับที่ใช้ในห้องผ่าตัด
“ปกติคนกลัวการทำฟันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ด้วยแล้ว หลายคนที่มีอาการฉุกเฉินไม่กล้ามารักษา จึงต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันยังได้ยกระดับคำแนะนำ แนวปฏิบัติการทำหัตถการรักษาทางทันตกรรม แก่หมอฟันและทีมงานด้วย โดยเฉพาะการสวมเครื่องป้องกัน การลดจำนวนเชื้อและปริมาณละอองฝอย รวมไปถึงแนวทางการตรวจคัดกรองผู้ป่วย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือพาหะในการแพร่กระจายเชื้อ และการกระจายเวลานัดหมายผู้ป่วย เพื่อหลีกเลี่ยงการนั่งรอและความใกล้ชิดระหว่างบุคคล พร้อมทั้งแนะนำการรักษาแต่ละครั้ง ควรใช้เวลาไม่เกิน 50 นาที” นายกทันตแพทยสมาคมฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศดังกล่าวได้อธิบายถึงมาตรการเสริมอื่นๆ ในการลดจำนวนเชื้อและปริมาณละอองฝอย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่หลายคนกังวล ว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ระบุว่า มีหลักฐานยันว่า การบ้วนปากและแปรงฟันก่อนการทำหัตถการ ช่วยลดปริมาณเชื้อได้ 70-95% ดังนั้นการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อบ้วนปากจึงเป็นมาตรการเสริมเพื่อให้เกิดการลดเชื้อในช่องปากเพิ่มขึ้นอีกก่อนเริ่มทำหัตถการ
ขณะเดียวกัน ในการกรอฟันหรือการรักษาที่ทำให้เกิดละอองฝอย (Aerosol) พบว่าจะมีเชื้อจุลินทรีย์ปนออกมาด้วยทุกครั้ง โดยเฉพาะเชื้อ SAR-CoV-2 ซึ่งกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ พบได้มากในสารคัดหลั่งจากลาคอและหลังโพรงจมูก ดังนั้น การใช้เครื่องดูดแรงดันสูงใกล้กับจุด กำเนิดละอองฝอย จะช่วยลดการฟุ้งกระจายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการใช้เครื่องดูดแรงดันสูง สามารถลดปริมาณละอองฝอยลงได้ถึง 90 % และการใช้แผ่นยางกันน้ำลายในขณะกรอฟัน ก็สามารถลดปริมาณเชื้อที่ฟุ้งกระจายออกมากับละอองฝอย ได้มากถึงร้อยละ 70-98%
นอกจากนี้ ยังระบุถึงระบบอากาศในคลินิกทันตกรรมด้วยว่า ควรจัดโดยคำนึงถึงอัตราระบายอากาศ (Ventilation Rate) และทิศทางการไหลของอากาศ (Airflow Direction) โดนแนะนำให้อากาศเคลื่อนตัวผ่าน จากทันตแพทย์ ไปยังผู้ป่วยและเคลื่อนตัวออกไปยังพัดลมดูดอากาศโดยไม่ผ่านตำแหน่งที่มีผู้ปฏิบัติงานอื่นอยู่ ในกรณีที่ไม่สามารถปรับปรุงตามลักษณะดังกล่าว แนะนำให้เพิ่ม Ventilation Rate โดยการเปิดหน้าต่างและใช้พัดลมเป่า ระบายอากาศทุกๆ ชั่วโมง โดยเปิดทิ้งไว้นานพอควร
ทั้งนี้ สำหรับสถานพยาบาลที่มีความพร้อม ส่งเสริมให้จัดระบบระบายอากาศให้ห้องทำฟันทั่วไป ให้มีการระบายอากาศออกสู่ภายนอก อยู่ในช่วง 6-12 ACH และหากจำเป็นต้องให้การรักษาผู้ป่วย ที่สงสัยหรือยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรให้การรักษาในห้องที่มีอัตราการ ระบายอากาศได้อย่างน้อย 12 ACH
สามารถคลิกอ่าน แนวทางการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อทางทันตกรรม ในสถานการณ์ COVID-19 ฉบับเต็มได้ที่ www.thaidental.or.th
- 116 views