สปสช.ตั้งงบจิตเวชแยกจากงบเหมาจ่ายรายหัวในปีงบประมาณ 59 จำนวน 49 ล้านบาท เน้นดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 8,300 คน ให้ได้รับการดูแลต่อเนื่องตามมาตรฐานของกรมสุขภาพจิตโดยใช้กลไกชุมชนร่วมกับ รพ.สต.ทั้งรับยาต่อเนื่อง ติดตามกรณีขาดยา ดูแลสุขภาพจิต ประเมินผู้ป่วย ความรุนแรงของอาการ และปรับทัศนคติในชุมชนเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อย่างปกติ
นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถิติที่กรมสุขภาพจิตดำเนินการพบว่า มีผู้รับบริการผู้ป่วยใหม่ของ รพ.รัฐด้วยโรคจิตเวชเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ซึ่งภาวะคุกคามต่อสุขภาพจิตคนไทยมีทั้งจากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงปัญหาการเข้าถึงบริการดูแลรักษาต่อเนื่องและการส่งเสริมสุขภาพจิตในระดับชุมชน ทั้งนี้คนไทยป่วยด้วยโรคจิตเวชที่สำคัญคือ จิตเภท โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคจิตเวชอันเนื่องมาจากสารเสพติด และโรคอารมณ์แปรปรวน
ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2559 นี้ รัฐบาลจึงได้ตั้งงบเพื่อการบริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนแยกออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว 49 ล้านบาท ซึ่งเดิมนั้นงบการรักษาผู้ป่วยจิตเวชจะรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว แต่ในปี 2559 นี้จะเป็นครั้งแรกที่มีการแยกออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวและเน้นการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังได้รับบริการต่อเนื่องในชุมชน เพื่อลดอาการกำเริบหรือกลับมาเป็นซ้ำ กลุ่มเป็นหมายคือผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ได้รับบริการต่อเนื่องในชุมชน 8,300 คน กำหนดเป้าหมายระดับอำเภอโดยใช้ข้อมูลฐานทะเบียนผู้ป่วยโรคจิตเวชเรื้อรังสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ เน้นการให้บริการผู้ป่วยโรคจิตเภทเป็นหลัก แต่ให้บริการผู้ป่วยโรคจิตอื่นๆ พร้อมกันไปในกิจกรรมชุมชน สำหรับการจ่ายให้สถานพยาบาลนั้น จ่ายเป็นค่าบริการทางการแพทย์ เฉลี่ยคนละ 6,000 บาท/ปี แบ่งเป็น 1,000 บาท/คน/ปี ให้สถานพยาบาลแม่ข่าย เช่น รพ.จิตเวช หรือ รพ.ที่เคยรักษาผู้ป่วยจิตเวช สำหรับการติดตามการรักษา และอีก 5,000 บาท/คน/ปี ให้สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ แลชะชุมชนเพื่อการดูแลต่อเนื่องในชุมชน
ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ในการบริหารจัดการนั้น กรมสุขภาพจิตและภาคีที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดมาตรฐานการให้บริการให้เหมาะสมกับเป้าหมาย ตลอดจนการกำกับติดตาม พัฒนาคุณภาพบริการ และบูรณาการในระดับพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเริ่มจากผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับการรักษาใน รพ.และสามารถออกจาก รพ.เพื่อใช้ชีวิตปกติได้ โดยได้รับยาต่อเนื่อง มีสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ เช่น โรงพยาบาลชุมชน รพ.สต.สนับสนุน/ให้คำปรึกษา ติดตามและประเมินผล ซึ่งเมื่อกลับมาอยู่ในชุมชนแล้ว ก็จะใช้กลไกของชุมชนในการดูแล ซึ่งมีทั้ง อปท. อสม. กองทุนสุขภาพตำบล และเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ เข้าร่วม
“การดูแลรักษาและบริการโรคจิตเวชเรื้อรังต่อเนื่องในชุมชน และสุขภาพจิตชุมชน โดยมีกิจกรรม เช่น ส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างต่อเนื่อง และติดตามผู้ป่วยกรณีขาดนัด หรือขาดยา ให้บริการสุขภาพจิตศึกษา ส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนร่วมดูแลผู้ป่วย รพ.สต.ที่มีพยาบาลเวชปฏิบัติหรือแพทย์ฉีดยาหรือให้ยาได้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางไปรับบริการที่สถานพยาบาล ประเมินสมรรถภาพของผู้ป่วย เช่น การใช้แบบประเมินสมรรถภาพคนพิการทางจิตใจ ประเมินความรุนแรงของอาการ อาการแทรกซ้อน สิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงต่อการกำเริบ และปรับทัศนคติในชุมชนเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อย่างปกติ ก็จะทำให้ประชาชนคนไทยรวมทั้งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีหลักประกันด้านสุขภาพและกลับมามีชีวิตปกติสุขได้” นพ.ชูชัย กล่าว
- 45 views