เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : ราชวิทยาลัยการพยาบาลออกมาเตือนว่ากฎหมายผู้อพยพฉบับใหม่อาจบีบให้พยาบาลนับหมื่นคนต้องออกจากสหราชอาณาจักร โดยนโยบายผู้อพยพอันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดจำนวนผู้อพยพระบุว่า ผู้อพยพซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าปีละ 35,000 ปอนด์ (ราว 1.9 ล้านบาท) จะต้องออกจากสหราชอาณาจักรภายหลังปีที่ 6 และนั่นก็หมายความว่าพยาบาลราว 3,365 คนซึ่งกำลังปฏิบัติงานอยู่ในสหราชอาณาจักรด้วยตัวเลขค่าจ้างรวมกันราว 20 ล้านปอนด์ (ราว 1,088 ล้านบาท) อาจโดนหางเลขไปด้วย
ราชวิทยาลัยการพยาบาลเตือนว่า การไหลออกของพยาบาลต่างชาติจะก่อปัญหาร้ายแรงและอาจบั่นทอนศักยภาพของระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Service) หรือที่รู้จักในชื่อ NHS เพราะเฉพาะที่กรุงลอนดอนเพียงแห่งเดียวก็มีสัดส่วนแพทย์ต่างชาติเกือบ 1 ใน 4 ขณะที่ตัวเลขของพยาบาลต่างชาตินั้นสูงไปถึงครึ่งหนึ่ง
ปัญหานี้ปะทุขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับที่ NHS ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับความต้องการด้านการดูแลรักษาท่ามกลางแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการผลักดันจากภาครัฐที่ต้องการเห็น NHS ให้บริการปฐมภูมิต่อเนื่องทุกวัน ตามที่ประเมินกันว่าจำนวนพยาบาลในช่วงปี 2553 และ 2559 ยังคงขาดอีกร่วม 50,000 ตำแหน่ง
สภาพการณ์ของปัญหายิ่งมืดมนลงไปอีก เมื่อมองไปที่การออกจากงานของพยาบาลซึ่งอยู่ในอัตราที่สูง
โดยประเมินว่าร้อยละ 10 ของพยาบาลออกจากงานด้วยสาเหตุต่างๆ รวมถึงความเครียด และอัตราการออกจากงานของพยาบาลมีแนวโน้มสูงกว่าในโรงพยาบาลวิทยาลัยแพทย์ สถาบันเพื่อการดูแลรักษาเฉพาะทาง เช่น สุขภาพจิตและผู้สูงอายุ และในเขตเมืองชั้นในโดยเฉพาะกรุงลอนดอนซึ่งอัตราการออกจากงานอาจสูงถึงร้อยละ 38
ตัวเลขที่สูงอย่างน่าตกใจนี้อาจกระทบไปถึงคุณภาพการดูแลผู้ป่วย รวมไปถึงศักยภาพของ NHS ที่จะตอบสนองความต้องการด้านสาธารณสุข นอกจากนี้ยังอาจทำให้ NHS ต้องแบกรับภาระการเงินมหาศาลจากค่าชดเชยการออกจากงานซึ่งอาจสูงเป็น 2 เท่าของเงินเดือนพยาบาล
ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์มักเสนอข่าวโจมตีบุคลากรสุขภาพชาวต่างชาติว่าแย่งงาน เบียดเบียนสิทธิประโยชน์ในท้องถิ่น และทำให้งบประมาณสูญไปจากระบบทั้งที่มีคุณภาพการปฏิบัติงานต่ำกว่ามาตรฐาน
แต่ความจริงนั้นกลายเป็นว่าบุคลากรชาวต่างชาติปฏิบัติงานในพื้นที่ซึ่งบุคลากรท้องถิ่นไม่ประสงค์ และหลายคนต้องเผชิญกับปัญหาการแบ่งแยกและกีดกันความก้าวหน้าในอาชีพการงานทั้งที่มีทักษะรอบตัว และต้องยอมรับว่าในข้อที่ว่าบุคลากรชาวต่างชาตินี้เองที่ช่วยให้ NHS สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
การแย่งชิงบุคลากรจากต่างประเทศ
ปัญหาบุคลากรสุขภาพของ NHS ไม่ได้ขีดวงอยู่เพียงเท่านี้ หากแต่ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันแย่งชิงบุคคลากรกับประเทศอื่นด้วย ตามที่ประเมินกันว่าประมาณร้อยละ 53 ของแพทย์ใหม่ในอินเดียและราวครึ่งหนึ่งของแพทย์ใหม่ในแอฟริกาใต้อพยพออกไปทำงานในประเทศพัฒนาแล้ว
เฉกเช่นเดียวกับพยาบาลฟิลิปปินส์กว่า 150,000 คนและพยาบาลซิมบับเวราว 18,000 คนซึ่งอพยพไปทำงานยังประเทศที่ให้เงินเดือนและมีเงื่อนไขการทำงานดีกว่า
อันที่จริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ ผลสำรวจเมื่อปี 2545 โดยแพทยสภาแห่งอังกฤษ รายงานว่า ร้อยละ 58 ของแพทย์ขึ้นทะเบียนใหม่ในสหราชอาณาจักรได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ และสถานการณ์เริ่มดีขึ้นบ้างเมื่อสถิติแพทย์ขึ้นทะเบียนใหม่ในปี 2558 ชี้ว่า สัดส่วนแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศล้นจาก 1 ใน 4 ไปไม่มากนัก จึงเห็นได้ว่าตัวเลขรวมของแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศของสหราชอาณาจักรค่อนข้างคงที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขในระดับโลก เพราะหลายประเทศที่ส่งออกแพทย์และพยาบาลไปยังประเทศร่ำรวย ล้วนแล้วแต่ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรภาคสาธารณสุขอย่างรุนแรง เช่น อินเดีย ที่มีสัดส่วนพยาบาลเพียง 171 คนต่อประชากร 100,000 คน แต่ก็ยังคงมีพยาบาลจำนวนมากหลั่งไหลไปทำงานในสหราชอาณาจักรซึ่งมีอัตราส่วนพยาบาลต่อประชากรสูงกว่าเกือบ 5 เท่า (880 คนต่อ 100,000 คน)
ปัญหาสมองไหลนี้กำลังเป็นปัญหาคุกคามต่อประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขในหลายประเทศต้นทาง และท้ายที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขในระดับโลก
ยิ่งไปกว่านั้น...ปัญหาสมองไหลไม่เพียงทำให้ประเทศต้นทางเสียทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่า หากยังทำให้งบประมาณที่ทุ่มเทลงไปกับการฟูมฟักบุคลากรต้องพลอยสูญเปล่าไปด้วย ดังที่ประเมินว่า การอพยพของแพทย์ชาวแอฟริกันแต่ละคนก่อมูลค่าความสูญเสียกว่า 116,000 ปอนด์ (กว่า 6.3 ล้านบาท)
แก้ไขให้ถูกทาง
สหราชอาณาจักรมีต้นทุนการฝึกฝนบุคลากรสุขภาพอยู่ที่
70,000 ปอนด์ (ราว 3.8 ล้านบาท) สำหรับพยาบาล
479,000 ปอนด์ (ราว 26.1 ล้านบาท) สำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
725,000 ปอนด์ (ราว 39.5 ล้านบาท) สำหรับที่ปรึกษาโรงพยาบาล
จึงไม่น่าแปลกใจที่ระบบสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรสามารถประหยัดเงินได้มากโขด้วยการว่าจ้างพนักงานต่างชาติที่สำเร็จการฝึกอบรมมาแล้ว
อย่างไรก็ดียังคงมีข้อโต้แย้งด้านการว่าจ้างและการอพยพบุคลากรสุขภาพต่างชาติในมิติด้านจริยธรรม โดยมีเสียงท้วงติงเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยซึ่งกวาดต้อนบุคลากรสุขภาพเข้าไปในลักษณะเดียวกับสหราชอาณาจักรหาทางชดเชยให้กับประเทศผู้เป็นต้นทาง
เห็นได้ชัดว่า แม้ในอนาคตอันใกล้ NHS ก็ยังคงต้องพึ่งพาบุคลากรชาวต่างชาติซึ่งเป็นกำลังสำคัญอยู่ในขณะนี้ จึงไม่น่าสงสัยหากมาตรการแก้ไขในระยะยาวจะต้องพุ่งไปที่การผลิตบุคลากรสุขภาพในท้องถิ่นให้มากขึ้น
อย่างไรก็ดีแผนยุทธศาสตร์นี้ก็ต้องอาศัยการลงทุนอย่างสูงทั้งด้านเวลาและงบประมาณสำหรับการศึกษาและฝึกอบรมด้านสาธารณสุข
ภาครัฐจำเป็นต้องวางแผนบูรณาการระหว่างหน่วยงานด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อให้สามารถดำเนินตามแผนไปอย่างราบรื่นไร้ปัญหา
และแรงงานต่างชาติยังคงมีความสำคัญจนกว่าจะถึงเวลาที่สหราชอาณาจักรสามารถพึ่งพาบุคลากรสุขภาพของตนเองได้อย่างมั่นคง
เพราะฉะนั้นจึงทำให้มองได้ว่า นโยบายผู้อพยพซึ่งมุ่งขัดขวางหรือกระทั่งพยายามผลักดันแรงงานต่างชาติออกนอกประเทศจะกลายเป็นสาเหตุของปัญหานานาประการ
เกี่ยวกับผู้เขียน
แอนดริว ลี ที่ปรึกษาและอาจารย์แพทย์อาวุโสสาขาการควบคุมโรคติดต่อ มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์
ที่มา : www.theconversation.com เรื่อง Immigration reform will starve NHS of healthcare workers
- 99 views