สธ.เตรียมชง ก.พ. แก้วิกฤตพยาบาลสมองไหล เข้า อ.ก.พ.สธ.พิจารณา 2 มิ.ย.นี้ ทั้งเงินเดือนตัน ไม่ก้าวหน้า แถมภาระงานหนัก ก่อนกระทบหนักทั้งระบบสาธารณสุขและผู้ป่วย เผยเสนอขอเพิ่มตำแหน่งไม่ยุบรวมระดับซี 8 พยาบาลชำนาญการพิเศษ 26,165 อัตรา ซี 9 พยาบาลเชี่ยวชาญ 799 อัตรา ใช้งบประมาณ 540 ล้านบาท พร้อมทั้งนำเสนอขอแก้แก้ปัญหาเงินเดือนตัน
ดร.กาญจนา จันทร์ไทย ผู้อำนวยการสำนักการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาพยาบาลขาดแคลนในส่วนของโรงพยาบาลสังกัด สธ. ว่า ขณะนี้การแก้ไขปัญหาเริ่มมีความก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งต้องยกเครดิตให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข และ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. ซึ่งได้ติดตามการแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง โดยหลังจากทราบข้อมูล ยอมรับว่าพยาบาลมีปัญหามากจริงและจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันพยาบาลไหลออกจากระบบ โดยเฉพาะการลาออกของพยาบาลในกลุ่มอายุ 35-54 ปี ที่เป็นกลุ่มลาออกมากที่สุดทั้งที่เป็นกลุ่มที่มีความรับผิดชอบสูง สาเหตุการลาออกมาจากภาระงานหนัก เงินเดือนตัน และไม่มีความก้าวหน้า จากการสำรวจพยาบาลระดับชำนาญการ มีร้อยละ 80 ที่ต้องขึ้นระดับซี 8 พยาบาลชำนาญการพิเศษ แต่มีเพียงแค่ร้อยละ 1.48 เท่านั้นที่ได้ขึ้นตำแหน่งนี้ถือว่าน้อยมาก ขณะที่พยาบาลอาวุโสที่ควรขึ้นระดับซี 9 พยาบาลเชี่ยวชาญ มีเพียงร้อยละ 0.01 เท่านั้นที่ได้ตำแหน่งนี้
ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นยังกระทบต่อไปยังพยาบาลกลุ่มอื่น เพราะเมื่อเห็นว่าไม่มีความก้าวหน้าในราชการจึงเลือกที่จะลาออก ส่งผลให้เกิดภาระงานพยาบาลในระบบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีพยาบาลที่ยังไม่ได้รับการบรรจุ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีมติ ครม.ปี 2555 ที่ให้ตำแหน่งบรรจุข้าราชการเพิ่ม แต่หลังจากกระจายการบรรจุไปยังทุกวิชาชีพ ทำให้มีพยาบาลที่รอการบรรจุจำนวนมากและส่วนหนึ่งเลือกลาออกจากระบบเช่นกัน
ดร.กาญจนา กล่าวว่า แนวทางแก้ไขปัญหาจึงควรให้พยาบาลมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มตำแหน่งพยาบาลชำนาญการพิเศษและตำแหน่งพยาบาลเชี่ยวชาญ แต่ที่ผ่านมาติดเงื่อนไขสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนดการเพิ่มตำแหน่งต้องทำการยุบรวมตำแหน่งว่าง ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันพยาบาลในระบบไม่พอ ซ้ำภาะงานล้น ดังนั้นที่ผ่านมา สธ.จึงได้จัดทำข้อเสนอใหม่ที่เป็นภาพรวมทั้งระบบเพื่อเสนอต่อ ก.พ. เพื่อขอผ่อนผันเพิ่มความก้าวหน้าให้กับพยาบาลในตำแหน่งสำคัญโดยไม่ต้องยุบรวมตำแหน่ง โดยขอเพิ่มตำแหน่งระดับซี 8 พยาบาลชำนาญการพิเศษ จำนวน 26,165 อัตรา คิดเป็นงบประมาณเพิ่มเติม 524 ล้านบาท และตำแหน่งระดับซี 9 พยาบาลเชี่ยวชาญ จำนวน 799 อัตรา คิดเป็นงบประมาณเพิ่มเติม 15,948,000 บาท นอกจากนี้ยังได้ทำข้อมูลพยาบาลเงินเดือนตันนำเสนอไปพร้อมกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพยาบาลทำงานต่อไป
“การจัดทำข้อเสนอแก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลนครั้งนี้ ได้มีผู้แทนจาก ก.พ.มาช่วยกันดูปัญหาด้วย ซึ่งการผลักดันเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขอย่างมาก ซึ่งส่วนที่ขอเพิ่มตำแหน่งนั้น มีความจำเป็นจริงๆ อย่างพยาบาลเชี่ยวชาญ มีโรงพยาบาลใหญ่ถึง 15 แห่งที่ไม่มีตำแหน่งนี้ อีกทั้งพยาบาลที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยหนัก ทำงานห้องผ่าตัด หรือพยาบาลวิสัญญี ควรให้เขาได้รับตำแหน่งตรงนี้ ไม่ควรปล่อยให้ตำแหน่งตัน ทั้งนี้ในการเสนอขอตำแหน่งเป็นการขอเฉพาะในส่วนที่จำเป็นจริงๆ” ผอ.สำนักการพยาบาล กล่าว และว่า ขณะนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอขาขึ้นเท่านั้น โดยคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สธ.) ในวันที่ 2 มิถุนายน นี้ ก่อนนำเสนอต่อ ก.พ.ต่อไป ซึ่งข้อเสนอนี้จะผ่านหรือไม่คงขึ้นอยู่กับ ก.พ.
ต่อข้อซักถามว่า หากข้อเสนอ สธ.ในครั้งนี้ ก.พ.ไม่อนุมัติจะมีผลกระทบอย่างไร ดร.กาญจนา กล่าวว่า ภาวะสมองไหลของพยาบาลในระบบคงเพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งขณะนี้พยาบาลส่วนหนึ่งที่ยังคงอยู่ในระบบเพราะเห็นว่า สธ.กำลังแก้ไขปัญหาให้ แต่หากยังปล่อยให้พยาบาลลาออกต่อเนื่อง ในที่สุดจะกระทบผู้ป่วยเพราะระบบสาธารณสุขจะเดินหน้าไม่ได้ ทั้งนี้ยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาบุคลากรสาธารณสุขจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบ แต่ขณะนี้ปัญหาพยาบาลเงินเดือนและความก้าวหน้าเป็นปัญหาวิกฤตอย่างมากจึงต้องเร่งแก้ไขก่อน แต่สิ่งที่กังวลคือ ก.พ.ระบุเงื่อนไขว่าหากอนุมัติตำแหน่งพยาบาลไม่ยุบรวม สายวิชาชีพอื่นต้องไม่ออกมาเรียกร้องเพิ่มเติม เพราะไม่เช่นนั้นระบบคงไม่สามารถอนุมัติได้ ตรงนี้จึงขอพิจารณาความเหมาะสมในส่วนที่วิกฤตและกระทบต่อผู้ป่วยโดยตรงก่อน โดยระบบจำเป็นต้องคงพยาบาลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์รองรับเพื่อดูแลผู้ป่วย
“ที่ผ่านมามีงานวิจัยรองรับว่า ในกลุ่มพยาบาลที่ยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ มีความผิดพลาดในการดูแลผู้ป่วยและเกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยสูงถึงร้อยละ 20 ซึ่งในผู้ป่วยวิกฤตอาจทำให้เสียโอกาสในการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ เนื่องจากพยาบาลเป็นผู้ที่อยู่ใกล้กับผู้ป่วยมากที่สุดในช่วงระหว่างการรอแพทย์ ดังนั้นจึงต้องคงพยาบาลในระดับเชี่ยวชาญไว้ พร้อมกันนี้ยังทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและเพิ่มเติมทักษะให้กับพยาบาลรุ่นน้องต่อไปได้” ผอ.สำนักการพยาบาล กล่าวและว่า การแก้ไขปัญหาในรอบนี้ เป็นแผนข้อเสนอเพื่อแก้ไขในส่วนของพยาบาลก่อน แต่ในส่วนวิชาชีพอื่นสามารถทำควบคู่กันได้ และอยู่ในแผนดำเนินการของคณะกรรมการกำลังคนเพื่อดูภาพรวมทั้งระบบอยู่แล้ว
ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมา สธ.ได้ทำการสำรวจพยาบาลขาดแคลนโดยมีจำนวนถึง 19,000 คน ดร.กาญจนา กล่าวว่า ยอมรับว่าเป็นจำนวนที่มาก ซึ่งการจะผลิตเพิ่มเติมและรับเข้าสู่ระบบทีเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงมีแนวทางในการผลิตผู้ช่วยพยาบาลขึ้นมาเพื่อสนับสนุนแทน โดยให้ทำหน้าที่ในส่วนที่ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้ทักษะและวิชาชีพมาก โดยมีการควบคุมกำกับแทน ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระงานของพยาบาลวิชาชีพลงได้
- 1001 views