กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ คุมเข้มคลินิกเสริมความงาม 1,458 แห่งทั่วประเทศ ต้องได้เกณฑ์มาตรฐานทั้งสถานที่ เครื่องมือ เวชภัณฑ์ ห้ามโฆษณาโอ้อวด แพทย์ที่รักษาต้องจบเฉพาะทางด้านความงามหรือผิวหนังได้รับใบอนุมัติหรือวุฒิบัตรจากแพทยสภาเท่านั้น หากเป็นแพทย์ที่ไม่จบแต่โฆษณาความเชี่ยวชาญด้านนี้ถือว่ามีความผิดฐานโฆษณาเท็จ
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันนี้ประชาชนทั้งชายและหญิงให้ความสำคัญความสวยความงามกันมาก และอายุน้อยลงเรื่อยๆ ไม่เฉพาะในกลุ่มผู้ทำงาน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ธุรกิจประเภทนี้มีมูลค่าตลาดประมาณ 14,000 ล้านบาท และมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจ ประชาชนจึงมีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของหมอเถื่อน หมอกระเป๋า หรือการลักลอบโฆษณาอวดอ้างการรักษาที่เกินความจริงในสื่อออนไลน์จำนวนมาก
สบส.ได้ดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน ประกอบด้วย การตรวจสอบ ควบคุมมาตรฐานของคลินิกเสริมความงามทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ขึ้นทะเบียน 1,458 แห่ง ให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ประกาศตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ว่าด้วยกำหนดลักษณะ ชื่อสถานพยาบาล ลักษณะการให้บริการ การแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล อัตราค่ารักษา ค่าบริการและสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2558 เป็นต้นมา และมาตรการเฝ้าระวัง ให้ความรู้ประชาชน ร่วมเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแส ร้องเรียนหมอเถื่อน สถานพยาบาลเถื่อน หรือปัญหาที่เกิดขึ้นหลังรับบริการ เพื่อลงโทษตามกฎหมาย
นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า ตามกฎกระทรวง ได้กำหนดให้บริการเสริมความงามอยู่ในกลุ่มของคลินิกเวชกรรมและคลินิกเวชกรรมเฉพาะทาง จะต้องมีมาตรฐานครบ 4 ด้าน ได้แก่
1)สถานที่ต้องสะอาด มีห้องตรวจหรือห้องให้การรักษาเป็นสัดส่วน มิดชิด ปลอดภัยต่อผู้รับบริการ เครื่องมือในห้องผ่าตัดเล็กและผ่าตัดใหญ่ได้มาตรฐาน
2)ผู้ที่ยื่นคำขออนุญาตดำเนินการสถานพยาบาลต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม สามารถดูแลสถานพยาบาลได้อย่างใกล้ชิด และไม่เป็นผู้ดำเนินการหรือผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลเอกชน หรือหน่วยงานรัฐที่มีเวลาปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกัน
3)ชนิดและจำนวนเครื่องมือ เครื่องใช้ ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นประจำสถานพยาบาลตามกฎหมายต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
และ 4)ชื่อสถานพยาบาลต้องไม่ขัดแย้งกับกฎกระทรวงว่าด้วยชื่อ และไม่ฝ่าฝืนการโฆษณา ต้องไม่ใช้คำที่มีลักษณะชักชวน เป็นเท็จ หรือโอ้อวดเกินความจริงทางสื่อทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์เชี่ยวชาญด้านความงามที่ให้การรักษา จะต้องได้รับวุฒิบัตรหรืออนุมัติจากแพทยสภาเท่านั้น จึงจะสามารถโฆษณาความเชี่ยวชาญทางการรักษาได้ ส่วนแพทย์เวชกรรมทั่วไปที่ไม่ได้จบเฉพาะทางด้านความงามหรือผิวหนังจะโฆษณาความเชี่ยวชาญไม่ได้ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดฐานเป็นการโฆษณาเท็จ ตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน10,000 บาทนับแต่วันที่ฝ่าฝืน จนกว่าจะระงับการโฆษณาดังกล่าว
โดยคลินิกทุกแห่งต้องจัดทำบันทึกรายงานการรักษาผู้ป่วยทุกราย และระบบรายงานประจำปีด้วย ซึ่งในปี 2559 นี้ สบส.จะร่วมกับงานคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดทั่วประเทศตรวจสอบอย่างใกล้ชิด หากพบไม่เป็นไปตามกฎหมาย มีโทษตามมาตรา 65 ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นพ.บุญเรืองกล่าว
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ก่อนการตัดสินใจเสริมความงาม ไม่หลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างการรักษาเกินจริง เช่น สวยทันตา หรือราคาที่ถูก ขอให้เลือกรับบริการจากสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานและขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องเท่านั้น โดยสังเกตได้จากหลักฐานต่างๆ ดังนี้
1) มีการแสดงใบอนุญาตให้ประกอบกิจการและใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล ไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย
2) ด้านหน้าสถานพยาบาลต้องมีแผ่นป้ายขนาดใหญ่แสดงชื่อสถานพยาบาล ประเภทและลักษณะการให้บริการของสถานพยาบาล รวมทั้งเลขที่ใบอนุญาต 11 หลักที่ให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล
และ 3) แพทย์ที่ทำการรักษาขณะนั้น ต้องตรงตามรูปถ่ายและเลขที่ใบอนุญาตของแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพที่แสดงไว้ในคลินิก
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับแพทย์ หรือสถานพยาบาล รวมทั้งหากพบหมอเถื่อน และสถานพยาบาลเถื่อน สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่เว็บไซต์และเฟซบุ๊คสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ เฟซบุ๊คมือปราบสถานพยาบาลเถื่อน และสายด่วน สบส. 0 2193 7999 ตลอด 24 ชั่วโมง และจะดำเนินการเร่งตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับแจ้งเพื่อดำเนินการด้านกฎหมายต่อไปโดยเร็วที่สุด
- 303 views