บอร์ดสปสช.เลือกแล้วผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ด้าน สพศท.ค้านคนหน้าเดิม ร้องนายกฯใช้ม.44 โละบอร์ดทั้งชุด
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เรียกประชุมกรรมการบอร์ด สปสช.ที่ทำการคัดเลือกแล้วจำนวน 23 คนมาประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 7 คน เพื่อให้กรรมการครบอย่างสมบูรณ์ ซึ่งปรากฏว่าได้มีการพิจารณาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิแล้วเสร็จจำนวน 7 ท่าน ประกอบด้วย 1.นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข 2.นางชุมศรี พจนปรีชา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง 3.นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย 4. พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประกันสุขภาพ
5.นพ.พินิจ หิรัญโชติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ทางเลือก 6.ผศ.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ และ 7.นายสมใจ โตศุกลวรรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย โดยขั้นตอนต่อไปจะต้องเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ส่วนการเลือกเลขาธิการ สปสช.คนใหม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มี ต้องรอให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.หมดวาระในวันที่ 15 พฤษภาคม 2559 ดังนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในตำแหน่ง แม้จะถูกคำสั่ง ม.44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งย้ายก็ตาม
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2558 พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) พร้อมด้วย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา สมาชิกสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล รองประธาน สผพท.ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า สำหรับการคัดเลือกบอร์ด สปสช.นั้น ปรากฏว่า รายชื่อของกรรมการชุดใหม่ ไม่ได้แตกต่างจากกรรมการชุดเดิมแม้แต่น้อย พบว่ารายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นการเวียนเทียนกัน โดยจากมาตรา 13(4) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ระบุให้คัดเลือกผู้แทนภาคประชาชนจำนวน 5 คน ซึ่งกฎหมายระบุให้เป็นไปตามรัฐมนตรีกำหนด และกรณีการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน โดยให้บอร์ดทั้งหมดและรัฐมนตรีเป็นผู้คัดเลือกนั้น ปรากฏว่าการคัดเลือกไม่มีความเป็นกลาง เป็นการสืบทอดอำนาจของกลุ่มตระกูล ส. จากบุคคลหนึ่งดำรงตำแหน่งในกรรมการบอร์ดฯ พอหมดวาระก็ย้ายไปอยู่ในกรรมการด้านการแพทย์ กรรมการด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นการเวียนเทียน
พญ.ประชุมพร กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า กฎหมาย สปสช. มีช่องโหว่อย่างมาก ให้กลุ่มตระกูล ส.เข้ามาใช้อำนาจได้ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการ สธ. ก็ควรใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม จึงขอเรียกร้องให้โละบอร์ด สปสช.ชุดนี้ โดยขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 อาศัยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โละบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ควรใช้อำนาจในการแก้ระเบียบทำคล้ายๆ กลไกการจัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยระเบียบไหนที่เปิดช่องให้กรรมการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิมีการหมุนเวียนไปมา ต้องแก้ระเบียบเสีย เพื่อไม่ให้เกิดประโยชน์ทับซ้อน
ทั้งนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งมี รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน นั้น ประกอบด้วยกรรมการ 30 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 9 ตำแหน่ง กรรมการจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 ตำแหน่ง กรรมการจากองค์กรเอกชน 5 ตำแหน่ง กรรมการผู้แทนหน่วยงาน 5 ตำแหน่ง (จาก แพทยสภา, สภาการพยาบาล, สภาเภสัชกรรม, ทันตแพทยสภา และ รพ.เอกชน) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ตำแหน่ง (ประกันสุขภาพ, การแพทย์และสาธารณสุข, การแพทย์แผนไทย, การแพทย์ทางเลือก, การเงินการคลัง, กฎหมาย และ สังคมศาสตร์)
- 3 views